คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4555/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำพยานโจทก์แต่ละปากขึ้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์เบิกความว่าอย่างไร แล้วฟังว่าจำเลยบังคับให้โจทก์ทำงานกักขังให้ปราศจากเสรีภาพและหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานให้แก่ตนโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานให้โดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง เป็นการวินิจฉัยคดีโดยมีเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และการที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานโจทก์แล้วเชื่อตามพยานโจทก์ว่าจำเลยกระทำผิดและลงโทษจำเลยนั้น เท่ากับเป็นการวินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้หรือไม่อย่างไร คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีข้อสำคัญที่เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๔๔, ๙๑, ๘๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบอาวุธปืน กระสุนปืน ซองบรรจุกระสุนปืนและคืนซองอ่อนใส่ปืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ความผิดตามมาตรา ๓๐๙ ให้จำคุกคนละ ๒ ปี ความผิดตามมาตรา ๓๑๐ ให้จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๓ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ คนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๔ อีกกระทงหนึ่งให้จำคุกในความผิดตามมาตรานี้ ๑ ปีรวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที ๒ ถึงที่ ๕ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๔ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายเบ้า นาคนวล นายทองมาก พิทักษา นายบำรุง บุญมั่น นายวีระ คณะกุล นายสมพร ขาวพิมาย นายสงวน พิมพ์จันทร์ นายพร ใจใส พยานโจทก์ต่างเบิกความว่าได้มาทำงานที่ไร่จำเลยที่ ๑ มีคนควบคุมบังคับให้ทำงาน ถ้าทำช้าก็ถูกทำร้าย คนคุมมีอาวุธปืน จำเลยที่ ๑ เก็บเสื้อผ้าคนงานไว้ เวลาเลิกงานก็ไปอยู่ในบ้านใส่กุญแจหน้าต่างบ้านใช้ไม้ตีปิดไว้ค่าจ้างก็ไม่จ่าย จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของไร่ เป็นคนขับรถนำคนงานไปทำงานและควบคุมคนงานด้วยโดยมีอาวุธปืนติดตัว เห็นว่า จำเลยที่ ๑ บังคับให้คนทำงานกักขัง ให้ปราศจากเสรีภาพ มิได้วินิจฉัยว่าเชื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ ดังกล่าวอย่างไรและสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยที่ ๑ หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานให้แก่ตนโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานให้โดยทุจริต นั้น เพราะเหตุใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยให้เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายน้อยเกินไปและมิได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่า พยานจำเลยที่ ๑ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้นั้น มีเหตุผลอย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามฟ้อง โดยหยิบยกคำพยานโจทก์ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์เบิกความว่าอย่างไร แล้วฟังว่าจำเลยที่ ๑ บังคับให้โจทก์ทำงาน กักขังให้ปราศจากเสรีภาพและหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานให้แก่ตนโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานให้โดยทุจริต จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามฟ้องเป็นการวินิจฉัยคดีโดยมีเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานโจทก์ดังกล่าวแล้วเชื่อตามพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดและลงโทษจำเลยที่ ๑ นั้น เท่ากับเป็นการวินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ แม้คำพิพากษาไม่ได้กล่าวโดยละเอียดว่าเชื่อพยานหลักฐานโจทก์จำเลยได้หรือไม่อย่างไร คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีข้อสำคัญที่เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๖) ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ โดยไม่ระบุวรรคใดและให้ริบซองอ่อนใส่ปืนของกลางซึ่งโจทก์ขอให้คืนแก่เจ้าของนั้นไม่ถูกต้องเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง, ๓๑๐ วรรคแรก และให้คืนซองอ่อนใส่ปืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share