คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 7,000,000 บาท จากเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ได้กู้ยืมเงินจำนวนเท่ากันจากธนาคาร อ.โดยปรากฏในรายงานการประชุมบริษัทของเจ้าหนี้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้เสนอต่อเจ้าหนี้ว่ากำลังเจรจาซื้อหุ้นโรงแรม ม. จำนวนหนึ่งเพื่อนำมาขายให้เจ้าหนี้ ที่ประชุมของบริษัทเจ้าหนี้มีมติตกลงรับซื้อ และให้ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ก่อนโดยมีโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นประกัน เมื่อขายหุ้นได้แล้วให้เอาเงินค่าหุ้นชำระคืนให้เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ย แต่ที่ประชุมบริษัทของเจ้าหนี้เห็นว่า การที่ลูกหนี้ที่ 1 จะซื้อหุ้นโรงแรมดังกล่าวมาขายให้เจ้าหนี้และการจะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้คงมีปัญหาจึงมีมติให้เจ้าหนี้ติดต่อขอกู้เงินจำนวน 7,000,000 บาท จากธนาคาร อ. โดยให้ใช้ที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นหลักประกันและให้แจ้งลูกหนี้ที่ 1 ทราบ ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2529 ลูกหนี้ที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้จำนวน7,000,000 บาท ต่อธนาคาร อ. แม้หนี้เงินกู้ทั้งสองรายจะเป็นหนี้คนละส่วนกัน แต่สาเหตุแห่งการกู้ยืมเงินมีส่วนเกี่ยวพันกันและลูกหนี้ที่ 1 ได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้ เพราะได้นำเงินไปซื้อหุ้นหมดแล้ว และยังขายหุ้นไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ได้ขอกู้เงินจากธนาคาร อ.เท่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้ที่ 1 กู้จากเจ้าหนี้ โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้ต่อธนาคาร อ.ทั้งตามข้อตกลงในสัญญากู้ระบุว่า ถ้าลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญากู้ยืมเงินก็ให้เจ้าหนี้จัดการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ทันทีหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามหนังสือมอบอำนาจของลูกหนี้ที่ 1 ที่ให้ไว้ ประกอบกับสัญญากู้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ 1 ปี ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่16 กรกฎาคม 2529 แต่เจ้าหนี้ได้กู้เงินจากธนาคาร อ.เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2529 ก่อนวันที่หนี้เงินกู้ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงกำหนดชำระ แสดงว่าเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถชำระได้แทนที่เจ้าหนี้จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามข้อตกลงในสัญญากู้หรือให้ลูกหนี้ที่ 1กู้ยืมเงินจากธนาคารเองโดยจำนองที่ดินเป้นประกันแล้วเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้กลับเลือกเอาทางไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. เอง โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จำนองที่ดินเป็นประกันเช่นนี้จึงต้องฟังว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 7,000,000 บาทที่ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมไปจากเจ้าหนี้ตามสัญญากู้แล้วตั้งแต่วันที่21 มกราคม 2529 หนี้ต้นเงินกู้จำนวน 7,000,000 บาท จึงระงับไปส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท อัตราร้อยละ 15ต่อปีตามสัญญากู้นั้น ลูกหนี้ที่ 1 ไม่เคยชำระแก่เจ้าหนี้เลยลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ในต้นเงินจำนวน7,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันกู้จนถึงวันที่เจ้าหนีได้รับชำระหนี้ต้นเงินกู้คืนคือวันที่21 มกราคม 2529 ส่วนดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับเพราะหนี้ต้นเงินกู้ได้ระงับไปแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยเป็นต้นเงิน 7,000,000 บาท และดอกเบี้ย5,931,796.68 บาท รวมเป็นเงิน 12,931,796.64 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 104 แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเสนอศาลชั้นต้นว่า หนี้เงินกู้ได้ระงับไปแล้ว และลูกหนี้ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าหนี้เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงินจำนวน7,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2533 ย้อนไปเป็นเวลา 5 ปีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ตามสัญญากู้หมาย จ.2พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 12,931,796.64 บาท จากกองทรัพย์สินลูกหนี้ที่ 1 หรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน7,000,000 บาท จากเจ้าหนี้ ตามสัญญากู้หมาย จ.2 และเจ้าหนี้ได้กู้ยืมเงินจำนวนเท่ากันจากธนาคารเอเซีย จำกัดนอกจากนั้นปรากฏในรายงานประชุมบริษัทของเจ้าหนี้ ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 10 ธันวาคม 2528ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 สรุปใจความได้ว่าลูกหนี้ที่ 1ได้เสนอต่อเจ้าหนี้ว่ากำลังเจรจาซื้อหุ้นโรงแรมมิตรามาอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวนหนึ่งเพื่อนำมาขายให้เจ้าหนี้ ที่ประชุมของบริษัทเจ้าหนี้มีมติตกลงรับซื้อ และให้ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ก่อนโดยมีโฉนดที่ดิน 4 โฉนดของลูกหนี้ที่ 1 เป็นประกันเมื่อขายหุ้นได้แล้วให้เอาเงินค่าหุ้นชำระคืนให้เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ย แต่ที่ประชุมบริษัทของเจ้าหนี้เห็นว่า การที่ลูกหนี้ที่ 1จะซื้อหุ้นโรงแรงดังกล่าวมาขายให้เจ้าหนี้นั้น มีปัญหาหลายประการและเจ้าหนี้ต้องการซื้อหุ้นจำนวน 1 ใน 3 ของหุ้นทั้งหมดเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการของโรงแรม หากไม่ได้หุ้นตามจำนวนที่ต้องการก็ให้ยกเลิกการซื้อหุ้นจากลูกหนี้ที่ 1 และให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้ และที่ประชุมของบริษัทเจ้าหนี้เห็นว่าการจะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้คงมีปัญหาจึงมีมติให้เจ้าหนี้ติดต่อขอกู้เงินจำนวน 7,000,000 บาท จากธนาคารเอเซีย จำกัดโดยให้ใช้ที่ดิน 4 โฉนดของลูกหนี้ที่ 1 เป็นหลักประกันและให้แจ้งลูกหนี้ที่ 1 ทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2529 ลูกหนี้ที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือสัญญาจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 4 โฉนดเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้ จำนวน 7,000,000 บาท ต่อธนาคารเอเซีย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.5 และภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนี้เงินกู้ทั้งสองรายจะเป็นหนี้คนละส่วนกันดังศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแต่สาเหตุแห่งการกู้ยืมเงินทั้งสองรายก็มีส่วนเกี่ยวพันกัน และได้ความจากลูกหนี้ที่ 1 ให้การว่าได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้ เพราะได้นำเงินไปซื้อหุ้นหมดแล้วและยังขายหุ้นไม่ได้ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมของบริษัทเจ้าหนี้ว่าการให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้นั้นจะมีปัญหาและในขณะนั้นเจ้าหนี้ต้องการเงินหมุนเวียน การที่เจ้าหนี้ได้ขอกู้เงินจากธนาคารเอเซีย จำกัด เท่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้ที่ 1กู้จากเจ้าหนี้โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 4 โฉนดเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้ต่อธนาคารเอเซีย จำกัด และลูกหนี้ที่ 1 ก็ยินยอมปฏิบัติโดยดี ทั้งตามข้อตกลงในสัญญากู้ หมาย จ.2ข้อ 5 ระบุว่าถ้าลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญากู้ยืมเงินก็ให้เจ้าหนี้จัดการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ทันที หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามหนังสือมอบอำนาจของลูกหนี้ที่ 1 ที่ให้ไว้ ประกอบกับสัญญากู้หมาย จ.2 มีกำหนดเวลาชำระหนี้ 1 ปี ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 16 กรกฎาคม 2529 แต่เจ้าหนี้ได้กู้เงินจากธนาคารเอเซีย จำกัด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2529 ก่อนวันที่หนี้เงินกู้ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงกำหนดชำระ แสดงว่าเมื่อลูกหนี้ที่ 1ไม่สามารถชำระได้แทนที่เจ้าหนี้จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 โฉนดของลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามข้อตกลงในสัญญากู้หมาย จ.2 ข้อ 5 หรือให้ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากธนาคารเองโดยจำนองที่ดินทั้งสี่โฉนดเป็นประกันแล้วเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้กลับเลือกเอาทางไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเอเซีย จำกัด เอง ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกหนี้ที่ 1กู้ยืมไปจากเจ้าหนี้ โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จำนองที่ดินทั้งสี่โฉนดเป็นประกันเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ที่ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมไปจากเจ้าหนี้ตามสัญญากู้หมาย จ.2 แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2529 หนี้ต้นเงินกู้จำนวน 7,000,000 บาท จึงระงับไป เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับต้นเงินจำนวนดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 อีก ส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาทอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญากู้หมาย จ.2 นั้น ได้ความว่าลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528และนับแต่วันที่ทำสัญญากู้ ลูกหนี้ที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เลย ดังนั้น ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ในต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท นับแต่วันที่16 กรกฎาคม 2524 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ต้นเงินกู้คืนคือวันที่ 21 มกราคม 2529 ส่วนดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับเพราะหนี้ต้นเงินกู้ได้ระงับไปแล้ว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินกู้ 7,000,000 บาทนับแต่วันที่กู้จนถึงวันที่ได้รับชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ทั้งหมด
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 7,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2529 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share