คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมจำเลยกำหนดให้วันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณี แต่จำเลยมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างมาทำงานในวันดังกล่าวจึงได้ขออนุญาตต่อแรงงานจังหวัด แรงงานจังหวัดอนุญาต แสดงว่าจำเลยยังถือว่าวันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณีของจำเลยอยู่ แต่ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีประกาศเปลี่ยนแปลงวันหยุดประเพณีดังกล่าวเป็นวันที่ 2 และ 6กรกฎาคม 2536 แทน และสหภาพแรงงานที่โจทก์เป็นสมาชิกได้มีหนังสือคัดค้านการที่จำเลยประกาศเปลี่ยนแปลงวันหยุดดังกล่าวด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสร้างความสับสนแก่ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ด้วยว่า วันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณีหรือไม่และจะต้องมาทำงานในวันนั้นหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากบัญชีรายชื่อลูกจ้างที่ไม่มาทำงานในวันดังกล่าวมีจำนวนถึง169 คน กรณีจึงไม่พอที่จะถือว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 4และ 5 มิถุนายน 2536 โดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของโจทก์ไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานทั่วไปได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 143 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2536จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 24,740 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 4,290 บาท และกรณีเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายตามอายุงานปีละเดือนเป็นเงิน 17,160 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย24,740 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,290 บาท และค่าเสียหาย 17,160 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดวันจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5และวันที่ 20 ของเดือน ไม่ใช่ทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 เหตุที่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 4 วันที่ 5และวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ลาให้ถูกต้อง โดยในวันที่ 4 และวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เดิมจำเลยกำหนดเป็นวันหยุดตามประเพณีแต่เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นต้องเร่งการผลิตสินค้าให้ทันตามความต้องการของลูกค้า จำเลยจึงมีคำสั่งให้ลูกจ้างทั้งหมดทำงานในวันดังกล่าว โดยจำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 24,740 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่าการที่โจทก์ไม่ไปทำงานในวันที่ 4 วันที่ 5 และวันที่ 7 มิถุนายน2536 เป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมจำเลยกำหนดให้วันที่ 4 และวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณี ต่อมาจำเลยมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าวจึงได้ขออนุญาตต่อแรงงานจังหวัดสมุทรปราการในฐานะผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย แรงงานจังหวัดสมุทรปราการอนุญาตให้จำเลยให้ลูกจ้างทำงานในวันที่ 4 และวันที่ 5 มิถุนายน 2536 ได้ดังนี้แสดงว่า จำเลยยังคงถือว่าวันที่ 4และวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณีของจำเลยอยู่แต่ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีประกาศเปลี่ยนแปลงวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวเป็นวันที่ 2 และวันที่ 3 กรกฎาคม 2536 แทนและสหภาพแรงงานบดินทร์ฟุตแวร์ที่โจทก์เป็นสมาชิกก็ได้มีหนังสือคัดค้านการที่จำเลยประกาศเปลี่ยนแปลงวันหยุดดังกล่าวด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสร้างความสับสนแก่ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ด้วยว่า วันที่ 4 และวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เป็นวันหยุดตามประเพณีหรือไม่ และจะต้องมาทำงานในวันนั้นหรือไม่เพียงใดดังจะเห็นได้จากบัญชีรายชื่อลูกจ้างที่ไม่มาทำงาน เอกสารหมาย ล.5ว่ามีลูกจ้างไม่ได้มาทำงานในวันดังกล่าวถึง 169 คน กรณีจึงไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 4 และวันที่ 5 มิถุนายน2536 โดยไม่มีเหตุอันสมควรการกระทำของโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share