คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 339 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 4,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนบุหรี่ ยี่ห้อกรองทิพย์ ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคา 42 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2169/2556 และ 6610/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 12 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 4,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนบุหรี่ ยี่ห้อกรองทิพย์ หรือใช้ราคา 42 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคำขอให้นับโทษต่อคดีอาญาที่โจทก์อ้างทั้งสองคดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงนับโทษต่อไม่ได้ ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา มีชายคนร้าย 2 คน ร่วมกันลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ด้วยการเรียกให้หยุด ขอตรวจค้นและจะบังคับจับกุมผู้เสียหายทั้งสองในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จากนั้นคนร้ายทั้งสองร่วมกันลักเงิน 5,000 บาท กับกระเป๋าสตางค์ 1 ใบ ราคา 99 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 และบุหรี่ ยี่ห้อกรองทิพย์ 1 ซอง ราคา 42 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป แต่ก่อนหลบหนี คนร้ายได้คืนกระเป๋าสตางค์และเงิน 200 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นคนร้ายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีพยานหลักฐานของโจทก์เชื่อมโยงกันเป็นขั้นเป็นตอนอย่างสมเหตุสมผล คดีจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ โดยหากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 โดยคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 4,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนบุหรี่ ยี่ห้อกรองทิพย์ หรือใช้ราคา 42 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคำขอให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาที่โจทก์อ้างของทั้งสองคดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจึงนับโทษต่อไม่ได้ ยกคำขอในส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share