แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น” เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินดังกล่าว เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่ง และ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 496,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ธันวาคม 2540) ต้องไม่เกิน 31,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดี นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 44432 แขวงลาดยาว เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่ 8/25 ซอยท่านผู้หญิงพหล ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 16,893,440 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยเกินกว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาถึง 18 เท่า ทั้งๆ ที่โจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ การยึดทรัพย์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินดังกล่าว โดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดอีก โจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นให้ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน 3 ฉบับ จำนวนเงิน 496,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,000 บาท รวมเป็นเงิน 527,200 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ครั้นในชั้นบังคับคดีนายสมศักดิ์ ผู้แทนโจทก์ ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินภายในบ้านพักอาศัยของจำเลย เลขที่ 8/25 ซอยท่านผู้หญิงพหล ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 44432 แขวงลาดยาว เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยเช่นกัน แต่มิได้มีการดำเนินการตามคำขอ จนกระทั่งนายศิริพงศ์ ผู้แทนโจทก์และเป็นพนักงานบริษัทลอว์ แอนด์ ซัคเซส จำกัด ซึ่งโจทก์พึ่งทำสัญญาจ้างให้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยตามสัญญา แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและนางสาววนิดา เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดตามขอโดยประเมินราคาทรัพย์สิน คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 16,893,440 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การยึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ตามคำพิพากษาอย่างมาก เป็นการบังคับคดีเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 284 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น” เห็นได้ว่า บทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สิน เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่งและ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า การบังคับคดีฝ่าฝืนข้อห้ามของมาตรา 284 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ