คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3901/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้อง ธ. นั้น ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) วินิจฉัยว่า ธ. ทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. มิได้ทำสัญญากับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์กับ ธ. จึงฟังไม่ได้ว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจนโจทก์ได้รับความเสียหายได้ พิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดและผูกพันคู่ความทั้งในส่วนของผลคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัย ส่วนคดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคนละบุคคลกับ ธ. แต่ตามคำฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ ธ. ทำกับบริษัท พ. และ ธ. ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญา นำความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในกิจการของบริษัทที่ ธ. กับภริยาตนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาเดียวกับที่โจทก์นำมากล่าวอ้างในคดีก่อน ประเด็นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์และ ธ. ทั้งสองคดีจึงเป็นประเด็นเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ว่า ธ. ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ในสัญญาจ้างแรงงานมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานได้ ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานผูกพันคู่ความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ธ. ทำสัญญาขายหุ้นของบริษัทโจทก์ให้แก่บริษัท อ. ก่อนที่ ธ. จะทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. แม้บริษัท อ. จะควบรวมกิจการกับบริษัท จ. กลายเป็นบริษัท พ. และถือว่าบริษัท พ. สวมสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นที่ซื้อจาก ธ. แทนบริษัท อ. ก็ตาม แต่บริษัท พ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิยกเอาข้อตกลงตามสัญญาขายหุ้นดังกล่าวที่ห้าม ธ. ประกอบธุรกิจหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์มากล่าวอ้างฟ้องร้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 150,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนคดีนี้ โจทก์ฟ้องนายธีรวัฒน์และจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) อ้างว่า นายธีรวัฒน์เป็นลูกจ้างโจทก์โดยทำสัญญาจ้างแรงงานผ่านบริษัทโพลีวัน จำกัด (ที่ถูก บริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ตัวแทนของโจทก์ มีข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่า นายธีรวัฒน์จะไม่ทำการค้าแข่งขันกับโจทก์หรือเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ การเปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับโจทก์ บริษัทโพลีวัน จำกัด หรือบริษัทอื่นใดที่เป็นคู่ค้ากับโจทก์ถือว่าทำผิดกฎหมายและละเมิดนโยบายโจทก์ ระหว่างที่ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ นายธีรวัฒน์ได้กระทำการทุจริตโดยมอบหมายให้นางพัชรา ภริยาของตนจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ และนำความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในกิจการของบริษัทจำเลยที่ตั้งขึ้น เป็นเหตุให้ธุรกิจของโจทก์ได้รับความเสียหายตามสำเนาคำฟ้อง แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางชี้ขาดว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง จึงให้จำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยออกจากสารบบความ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้องนายธีรวัฒน์นั้น ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นายธีรวัฒน์ทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด มิได้ทำสัญญากับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับนายธีรวัฒน์ จึงฟังไม่ได้ว่า นายธีรวัฒน์เป็นลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างมากล่าวอ้างว่านายธีรวัฒน์ประพฤติผิดสัญญาจนโจทก์ได้รับความเสียหายได้ พิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ สป. 137/2555 เอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมได้รับรองความถูกต้องแล้ว โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) มีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้อง ตามสำเนาคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ท. 1397/2555 เอกสารท้ายคำร้องของจำเลย ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมได้รับรองความถูกต้องแล้ว คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันคู่ความทั้งในส่วนของผลคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัย สำหรับคดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคนละบุคคลกับนายธีรวัฒน์ แต่ตามคำฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่า นายธีรวัฒน์เป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่นายธีรวัฒน์ทำกับบริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายธีรวัฒน์ประพฤติผิดข้อตกลงในสัญญานำความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในกิจการของบริษัทที่นายธีรวัฒน์ร่วมกับนางพัชรา ภริยาของตนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาเดียวกับที่โจทก์นำมากล่าวอ้างในคดีก่อน ประเด็นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์และนายธีรวัฒน์ทั้งสองคดีจึงเป็นประเด็นเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ว่า นายธีรวัฒน์ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ในสัญญาจ้างแรงงานมากล่าวอ้างว่านายธีรวัฒน์กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานได้ ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานผูกพันคู่ความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247
ส่วนที่โจทก์อ้างในฟ้องคดีนี้ด้วยว่า นายธีรวัฒน์ทำสัญญาขายหุ้นบริษัทโจทก์ โดยมีข้อตกลงห้ามนายธีรวัฒน์ประกอบธุรกิจหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์ และห้ามชักจูงหรือโน้มน้าวพนักงานของโจทก์ให้ออกจากงานเพื่อไปทำงานให้แก่บุคคลอื่น และนายธีรวัฒน์ประพฤติผิดข้อตกลงในสัญญาซื้อขายหุ้นด้วย นั้น เห็นว่า นายธีรวัฒน์ทำสัญญาขายหุ้นบริษัทโจทก์ ให้แก่บริษัทเอ็ม. เอ. ฮานนา เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2547 ก่อนที่นายธีรวัฒน์จะทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเดือนมิถุนายน 2548 แม้บริษัทเอ็ม. เอ. ฮานนา เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด จะควบรวมกิจการกับบริษัทจีออน จำกัด กลายเป็นบริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และถือว่าบริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด สวมสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นที่ซื้อจากนายธีรวัฒน์ แทนบริษัทเอ็ม. เอ. ฮานนา เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด ก็ตาม แต่บริษัทโพลีวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิยกเอาข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวมากล่าวอ้างฟ้องร้องคดีนี้
สำหรับจำเลยนั้น โจทก์ฟ้องให้รับผิดฐานละเมิด อ้างถึงการกระทำของนายธีรวัฒน์ว่าผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาซื้อขายหุ้น กับจำเลยร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำของนายธีรวัฒน์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า แม้จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีของศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) แต่ผลของคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวที่ผูกพันโจทก์ ย่อมมีผลต่อการพิจารณารับฟังพยานหลักฐานในคดีนี้ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้เป็นคู่สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาซื้อขายหุ้นกับนายธีรวัฒน์ โจทก์ไม่อาจอ้างข้อตกลงตามสัญญาทั้งสองดังกล่าวมาอ้างเพื่อให้นายธีรวัฒน์รับผิด และไม่อาจกล่าวอ้างสัญญาทั้งสองเพื่อเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share