คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และนางสาว ก. ในฐานะผู้รับประโยชน์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะและขอบอกล้างสัญญา ย่อมเกิดข้อพิพาทตามสัญญาประกันชีวิตขึ้นแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 เสนอคืนเงินเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์และนางสาว ก. แทนการชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตตามที่โจทก์และนางสาว ก. เรียกร้องหรือคืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์และนางสาว ก. ตกลงยอมรับเอาเงินเบี้ยประกันภัยคืนตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ และสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องเอาเงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์จากจำเลยที่ 1 อีก ย่อมเป็นการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 บัญญัติไว้ ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์และนางสาว ก. ตามสัญญาประกันชีวิตระงับสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสาขาจังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 4เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1ทำสัญญาประกันชีวิตนางอ่อน ศรีสารคาม มารดาของโจทก์ไว้เป็นเงิน 30,000 บาท ให้โจทก์และนางสาวกาญจนา เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมานางอ่อนถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสี่ต้องจ่ายเงินตามทุนประกันให้แก่โจทก์และนางสาวกาญจนา แต่ไม่ยอมจ่ายให้ครบถ้วนคงจ่ายให้เพียง 2,400 บาท เท่ากับเบี้ยประกันภัยที่ชำระแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 27,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะนางอ่อน ศรีสารคาม ขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นางอ่อนละเว้นไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าตนสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยป่วยเป็นโรคก้อนเนื้องอกในท้องมาก่อนจำเลยที่ 1 หลงเชื่อตามที่ นางอ่อนได้แถลงในคำขอเอาประกันชีวิตว่ามีสุขภาพสมบูรณ์ในระหว่างสองปีที่แล้วจึงได้ตกลงสัญญาประกันชีวิตนางอ่อน หากจำเลยที่ 1 ทราบความจริงก็จะไม่ยอมทำสัญญาดังกล่าว การปกปิดข้อความจริงและแถลงความเท็จเป็นข้อสาระสำคัญในการทำสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างไปยังโจทก์และนางสาวกาญจน์แล้ว โจทก์และนางสาวกาญจนายินยอมรับเงินเบี้ยประกันภัยที่นางอ่อนได้ชำระไว้จำนวน 2,400 บาท และให้ถ้อยคำรับรองว่าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ตามกรมธรรม์อีกต่อไป จึงเท่ากับได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ถ้าศาลฟังว่าสัญญาประกันชีวิตมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดเต็มตามฟ้อง จำเลยคงรับผิดชดใช้เงินทุนประกันให้แก่โจทก์จำนวน14,390 บาท ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของเงินทุนประกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่ใช่คู่สัญญาประกันชีวิตของนางอ่อนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนขายประกันชีวิต มีหน้าที่ชักชวนแนะนำให้บุคคลที่ประสงค์จะประกันชีวิตได้เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน14,390 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3และที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนางอ่อนผู้ทำสัญญาประกันชีวิตถึงแก่กรรมโจทก์และนางสาวกาญจนาในฐานะผู้รับประโยชน์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะและขอบอกล้างสัญญา ย่อมเกิดข้อพิพาทตามสัญญาประกันชีวิตขึ้นแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 เสนอคืนเงินเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์และนางสาวกาญจนาแทนการชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตตามที่โจทก์และนางสาวกาญจนาเรียกร้องหรือคืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 892 บัญญัติไว้ โจทก์และนางสาวกาญจนาก็ได้ตกลงยอมรับเอาเงินเบี้ยประกันภัยคืนตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ และสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องเอาเงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์จากจำเลยที่ 1 อีก ย่อมเป็นการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติไว้ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์และนางสาวกาญจนาในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต ซึ่งโจทก์และนางสาวกาญจนายอมสละนั้นระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตอีก
พิพากษากลับ

Share