คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยมีความหมายแจ้งชัดว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทนอกจากจะประกันหนี้เงินที่ ส. ได้กู้ไปจากจำเลยในขณะทำสัญญาจำนองแล้ว ยังรวมถึงเป็นประกันหนี้ที่ ส. จะกู้ไปจากจำเลยต่อไปในอนาคตด้วย หากสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ โดยจำกัดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดทั้งสิ้นไม่เกิน 260,000 บาท ซึ่งจากบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสองและมาตรา 707 เมื่อสัญญาจำนองกำหนดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดไม่เกิน 260,000 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าว หลังจากทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทแล้ว ส. ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 50,000 บาท ซึ่งยังไม่เต็มวงเงินจำนอง แม้จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนแล้วในวันที่ 3 มกราคม 2546 แต่เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงเลิกสัญญาจำนอง สัญญาจำนองที่ดินพิพาทยังมีผลผูกพันอยู่ไม่ระงับสิ้นไป ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2546 ส. ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 130,000 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนวงเงินที่โจทก์จะต้องรับผิดต้องถือว่าหนี้กู้เงินครั้งหลังเป็นหนี้ในอนาคต สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมครอบคลุมถึงหนี้กู้ยืมเงินครั้งหลังอันเป็นหนี้ประธานด้วย หาจำต้องไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันใหม่อีก เมื่อสัญญาจำนองที่ดินพิพาทมีข้อความชัดเจนว่า เป็นการจำนองหนี้ในอนาคตด้วย หามีข้อสงสัยที่จะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 แต่อย่างใดไม่ การที่ ส. ค้างชำระหนี้เงินกู้ครั้งหลังที่มีอยู่แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองซึ่งประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวอยู่สัญญาจำนองยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 73622 ตำบลกระโสบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545 โจทก์และนางรัชนี แก้วกอ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทได้ทำสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้ของนายสายทอง แก้วกอ แก่จำเลย โดยสัญญาจำนองมีข้อตกลงความว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันเงินซึ่งนายสายทองได้กู้ไปจากผู้รับจำนองแล้วในเวลานี้หรือจะกู้ในเวลาหนึ่งเวลาใดต่อไปในภายหน้าดังปรากฏจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยในบัญชีของสหกรณ์จำเลย กับทั้งหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งนายสายทองจะต้องรับผิดไม่ว่าในฐานะใด ๆ ต่อจำเลยตลอดจนค่าอุปกรณ์ทุกอย่างเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้จำนองหรือของนายสายทองเป็นเงินไม่เกิน 260,000 บาท ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หรือเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 วันที่ 22 มีนาคม 2545 นายสายทองกู้ยืมเงินจำเลย 50,000 บาท และได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2546 หลังจากนั้นวันที่ 24 มกราคม 2546 นายสายทองกู้ยืมเงินจำเลยอีก 130,000 บาท แต่ยังมิได้ชำระหนี้ดังกล่าวนี้ให้จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทระงับแล้วหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อนายสายทองชำระหนี้เงินกู้ครั้งแรกครบถ้วนสัญญาจำนองที่ดินพิพาทย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 (1) การที่นายสายทองทำสัญญากู้เงินจากจำเลยจำนวน 130,000 บาท หลังจากสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระงับสิ้นไปแล้ว โดยมิได้ทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันใหม่ เป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 714 โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองนั้น เห็นว่า สัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หรือเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ข้อ 1 มีใจความว่า ผู้จำนองได้ตกลงจำนองที่ดินกับบรรดาสิ่งปลูกสร้างต่อไปภายหน้าแก่ผู้รับจำนองเพื่อประกันหนี้เงินซึ่งนายสายทอง แก้วกอ สมาชิกได้กู้ไปจากผู้รับจำนองแล้วในเวลานี้หรือจะกู้ในเวลาหนึ่งเวลาเวลาใดต่อไปในภายหน้าดังปรากฏจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยในบัญชีสหกรณ์ กับทั้งหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งนายสายทองสมาชิกจะต้องรับผิดไม่ว่าในฐานะใด ๆ ต่อสหกรณ์ ตลอดจนค่าอุปกรณ์ทุกอย่างเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้จำนองหรือของนายสายทองเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 260,000 บาท จากข้อสัญญาดังกล่าวนี้มีความหมายแจ้งชัดว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทนอกจากจะประกันหนี้เงินที่นายสายทองได้กู้ไปจากจำเลยในขณะทำสัญญาจำนองนี้แล้ว ยังรวมถึงเป็นประกันหนี้ที่นายสายทองจะกู้ไปจากจำเลยต่อไปในอนาคตด้วย หากสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่โดยจำกัดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดทั้งสิ้นไม่เกิน 260,000 บาท ซึ่งตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ และมาตร 707 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้เมื่อสัญญาจำนองกำหนดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดไม่เกิน 260,000 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวหลังจากทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทแล้วนายสายทองได้กู้เงินจำเลยจำนวน 50,000 บาท ซึ่งยังไม่เต็มวงเงินจำนอง แม้จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนแล้วในวันที่ 3 มกราคม 2546 แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงเลิกสัญญาจำนอง สัญญาจำนองที่ดินพิพาทยังมีผลผูกพันอยู่ไม่ระงับสิ้นไป ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2546 นายสายทองได้กู้เงินจำเลยจำนวน 130,000 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนวงเงินที่โจทก์จะต้องรับผิด จึงต้องถือว่าหนี้กู้เงินครั้งหลังนี้เป็นหนี้ในอนาคต สัญญาจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมครอบคลุมถึงหนี้กู้ยืมเงินครั้งหลังอันเป็นหนี้ประธานด้วย กรณีหาจำต้องไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันใหม่อีก เมื่อปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินพิพาทมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการจำนองหนี้ในอนาคตด้วย หามีข้อสงสัยที่จะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ การที่นายสายทองยังค้างชำระหนี้เงินกู้ครั้งหลังจำนวน 130,000 บาท ที่มีอยู่แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทซึ่งประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวอยู่สัญญาจำนองยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้โจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share