คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5382/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268ประกอบด้วยมาตรา 266,341 เมื่อข้อหาใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนักไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ข้อหาฉ้อโกงตามมาตรา 341ซึ่งเป็นบทที่เบากว่า จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมตั๋วแลกเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเรืองคอนสตรัคชั่นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาทซึ่งออกให้แก่จำเลยที่ 2 และร่วมกันปลอมหนังสือของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เรื่องการอาวัลตั๋วแลกเงินดังกล่าวทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องและผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเรืองคอนสตรัคชั่น นายฆฤณ มหาดำรงค์กุล นายบุญช่วย พรศรีสุขนายจารุชาติ งามสกุลรุ่งโรจน์ นายมานิตย์ มิตรชัยนางสาวทิพย์รัตน์ ปัทมะสังข์ ผู้อื่นและประชาชนและจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เอกสารที่ปลอมขึ้นดังกล่าวไปแสดงต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ตั๋วแลกเงินและหนังสือรับรองการอาวัลเป็นเอกสารที่แท้จริงและทำการขายลดให้แก่ธนาคารดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจำนวน 48,354,109.61 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 264,266, 268, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้หรือค้นเงินจำนวน2,110,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ริบตั๋วเงินปลอมเอกสารปลอม ส่วนทรัพย์สินของกลางอื่นคืนเจ้าของ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 341, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 1ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ให้ จำเลยที่ 1ใช้หรือคืนเงินจำนวน 2,110,000 บาท แก่ผู้เสียหายริบตั๋วเงินและหนังสืออาวัลตั๋วปลอม ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วย266,341.83 ให้ลงโทษตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 4 ปี และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 2,110,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่าเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีข้อความระบุว่าเป็นตั๋วแลกเงินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเรืองคอนสตรัคชั่น สัญญาจะใช้เงิน50,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2532 โดยมีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเพชรบุรี เป็นผู้อาวัลกับเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีข้อความยืนยันการอาวัลตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าว เป็นเอกสารหลอม ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายลดตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมายจ.3 แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี และนำเงินที่ขายได้หลังจากหักส่วนลดแล้วเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารดังกล่าว จำนวน 48,354,109.61 บาท ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2532 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ตามลำดับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนายสราวุธ วงศ์ใหญ่ ผู้ช่วยผู้จัดการด้านการธนาคารของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินีเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไปติดต่อกับพยานจะนำตั๋วแลกเงินขายลดกับ ธนาคารสองครั้งคือก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ครั้งหนึ่ง กับวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งแรกพยานแนะนำให้จำเลยที่ 1 ไปพบผู้จัดการสาขา ครั้งที่สองแนะนำให้ไปติดต่อกับนายจารุชาติ งามสกุลรุ่งโรจน์ เจ้าหน้าที่อำนวยการสินเชื่อของธนาคาร กับได้ความจากคำเบิกความของนายจารุชาติพยานโจทก์ซึ่งเบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายสราวุธว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา พยานได้ต้อนรับจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คน โดยจำเลยที่ 1 ได้นำสำเนาตั๋วแลกเงินที่จะขายไปด้วย พยานได้เชิญจำเลยทั้งสองไปพบนายดิเรก ชูสถานผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อ พยานได้สอบถามจำเลยทั้งสองด้วยว่าจะนำเงินขายลดตั๋วแลกเงินไปใช้อะไร จำเลยที่ 1 บอกว่าจะนำไปซื้อใบยาสูบเพื่อส่งออก โดยส่วนหนึ่งจะฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี แล้วจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 10,000 บาท เปิดบัญชีกระแสรายวันในนามจำเลยที่ 2 จากนั้นพยานได้พูดคุยกับจำเลยที่ 1 ถึงเรื่องการเปิดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และเรื่องการออกแคชเชียร์เช็ค จำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย จ.19เมื่อดำเนินการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสองได้ออกจากธนาคารขึ้นรถยนต์ไปด้วยกัน ในวันรุ่งขึ้น หลังจากรู้เรื่องการปลอมและใช้เอกสารปลอมแล้ว พยานนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่ทำการ ร.ส.พ. ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นในการปลอมเอกสารแต่รับว่าได้เสนอเงื่อนไขว่าจะคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนศรีอยุธยาให้แต่ขอทางธนาคารอย่าเอาเรื่อง กับได้ความจากคำของนายดิเรก พยานโจทก์เบิกความยืนยันด้วยว่า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พยานเรื่องการขายลดตั๋วแลกเงินตามที่นายสราวุธ แนะนำพยานได้มอบหมายให้นายมานิตย์ มิตรชัย หัวหน้าหน่วยสินเชื่อไปติดต่อขอรับต้นฉบับตั๋วแลกเงินกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัดโดยจำเลยกับพวกนายมานิตย์ นายมานิตย์ พยานโจทก์เบิกความยืนยันทำนองเดียวกัน เห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ดังกล่าว เมื่อประกอบกันแล้วฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการขายลดตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย จ.3 กับจำเลยที่ 2 กับพวกจริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างหลักฐาน ที่อยู่และนำสืบว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเพื่อฝากเงินจำนวน 10,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8นั้น ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ ชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินและจัดการให้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายลดตั๋วแลกเงินดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้มาตั้งแต่แรกแล้วว่าตั๋วแลกเงินดังกล่าวเป็นตั๋วแลกเงินปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ไป กับจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อขายลดตั๋วแลกเงินปลอมกับธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาลุมพินี ตลอดจนร่วมเดินทางไปธนาคารนครหลวงไทยจำกัด กับจำเลยที่ 1 กับพวกทำทีไปรับต้นฉบับตั๋วแลกเงินจากธนาคารนั้น กับใช้ชื่อของตนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินปลอมจำนวนถึง 50,000,000 บาท และร่วมมือในการขายลดตั๋วแลกเงินปลอม ตลอดจนเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วนำเงินที่ได้จากการขายลดตั๋วแลกเงินปลอมผ่านบัญชีนั้น แล้วถอนเงินออกในวันเดียวกันเกือบหมดบัญชีอันเป็นวิธีการยักย้ายเงินออกจากธนาคาร อย่างฉับพลันย่อมเป็นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นว่าตั๋วแลกเงินนั้นเป็นตั๋วแลกเงินปลอมมาตั้งแต่แรกโดยได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 กับพวกวางแผนใช้ตั๋วแลกเงินปลอม หลอกลวงธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี จนได้เงินไปจากธนาคาร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิด ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายว่าข้อหาฉ้อโกงเสร็จเด็ดขาดเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อข้อหาใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทหนักไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ข้อหาฉ้อโกงจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share