คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะฟังว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นถ้าจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือให้การปฏิเสธว่าพนักงานสอบสวนนั้นไม่มีอำนาจเช่นนั้นแล้ว จนเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยจึงกล่าวอ้างขึ้นมา และจำเลย ก็มิได้นำสืบว่า พนักงานสอบสวนมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่อย่างไรนั้น ก็ย่อมเป็นคำกล่าวอ้างอันหาสาระมิได้ เพราะการกระทำทั้งหลายย่อมสันนิษฐานว่าเป็นการชอบ เว้นแต่จะได้ความว่าไม่ชอบ
คดีอาญาที่อัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ด้วยนั้น แม้ผู้เสียหายจะขอเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ผู้เสียหายก็มิต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับทุนทรัพย์ที่ขอให้จำเลยคืน

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้มูลกรณีเดียวกัน โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 127, 128, 178, 179, 180, 181, 301,321, 322 ฯลฯ
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 2, 3, 7, 9, 12, 15 และนายนิตย์หรือปุ๊ จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 181มาตรา 301 จำเลยที่ 9, 12 และ 15 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2485 มาตรา 3 อีกฐานหนึ่งด้วย แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นบทหนักบทเดี่ยว จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 11 ปรากฏว่าไปในวันปล้นเท่านั้น มีความผิดฐานปล้นฐานเดียว ให้จำคุก 10 ปี ฯลฯ
จำเลยที่ 4 ผิดตามมาตรา 181 ให้จำคุก 6 ปี
จำเลยนอกนั้น ไม่มีความผิด
ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301 ด้วย ให้จำคุก 12 ปี
ฯลฯ
จำเลยที่ 1, 2, 4, 7, 9, 11, 12, 15 และนายนิตย์หรือปุ๊จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ปัญหาว่ากองตำรวจสอบสวนกลางมีอำนาจสอบสวนคดีหรือไม่นั้น ไม่มีจำเลยคนใดยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือให้การปฏิเสธว่ากองตำรวจสอบสวนกลางไม่มีอำนาจเช่นนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นในข้อนี้ จนสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วจำเลยที่ 19 จึงยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้อย่างลอย ๆ หาได้นำสืบให้ได้ความประการใดไม่ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 749/2491 แล้วว่า การที่จะฟังว่า เจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้น เป็นข้อข้อเท็จจริงฉะนั้นในคดีนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวแล้วก็ไม่นำสืบ จึงเป็นคำกล่าวอันหาสาระมิได้
ข้อฎีกาอีกข้อหนึ่งที่จำเลยคัดค้านว่า โจทก์ร่วมจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับทุนทรัพย์ที่ขอให้จำเลยคืนนั้น เห็นว่าเรื่องนี้ อัยการได้ร้องขอให้คืนอยู่ก่อนแล้ว เป็นคำขออันเดียวกัน และในเรื่องเดียวกัน ซึ่งศาลยอมรับพิจารณาให้อยู่แล้วจึงหาควรเรียกค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ร่วมอีกไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว
ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังตามศาลอุทธรณ์เว้นแต่ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 และ จำเลยที่ 11, 15
จึงคงพิพากษาแก้ว่า นายนิตย์ จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 ให้จำคุก 10 ปี ฯลฯ
จำเลยที่ 4 และที่ 15 ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 178ให้จำคุกคนละ 2 ปี นอกจากนี้ คงยืน

Share