คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีอาญาเรื่องใดต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิหรือไม่ ย่อมต้องดูที่อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ ส่วนอัตราโทษที่ศาลจะนำมาใช้จริง ไม่ใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของหม่อมหลวงฟ่อน สนิทวงศ์ ตามคำสั่งศาล หม่อมหลวงฟ่อนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณตามคำสั่งศาล หม่อมราชวงศ์สุวพรรณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4977 เนื้อที่ 300 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวาและเป็นทรัพย์สินมรดกตกทอดให้แก่ทายาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4977 ให้แก่จำเลยที่ 3ถึงที่ 10 ในราคาเพียงไร่ละ 7,000 บาท รวมราคา 2,102,065 บาทและให้ชำระราคาโดยผ่อนชำระรวม 4 งวด ภายในเวลา 2 ปีราคาที่ตกลงจะซื้อขายดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงไม่ต่ำกว่าสองเท่า หากนำระยะเวลาผ่อนชำระราคามาคำนวณดอกเบี้ยแล้วราคาซื้อขายกันจะต่ำลงเพียงไร่ละ 4,000 บาทต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3ถึงที่ 10 การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 จึงเป็นการร่วมกันเบียดบังเอาที่ดินมรดกแปลงดังกล่าวโดยทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83 และ 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ควรจะต้องมีมูลแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำผิด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 83 เท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายชัดว่าจำเลยที่ 3ถึงที่ 10 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำผิดขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83 ซึ่งความผิดตามมาตรา 354, 83 นั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่าคดีอาญาเรื่องใดต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ หรือไม่ย่อมต้องดูที่อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ ส่วนอัตราโทษที่ศาลจะนำมาใช้จริง หาใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 1 จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในป้ญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยมูลคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และคำพิพากษาไปตามรูปคดี

Share