คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10300/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ แต่ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งให้งดการชี้สองสถาน และให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยต่อไป จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาถามค้านพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบและนำสืบพยานจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ และถือได้ว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอุทธรณ์ได้อีก เพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
การวินิจฉัยปัญหาว่าสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น เมื่อสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮ. ระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และสัญญาดังกล่าว ข้อ 8.1 ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 6,196,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 6 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินอัตราเดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันที่ 6 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายเลขที่ 78384 ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อให้โจทก์เปิดกิจการได้อีกครั้ง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนเดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันที่ 6 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปติดต่อกันเวลา 5 ปี คิดเป็นเงินจำนวน 38,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 6 กันยายน 2554 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายเลขที่ 78384 ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เฉพาะข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพื่อให้โจทก์สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ แต่ค่าเสียหายส่วนนี้มิให้คิดเกิน 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สำหรับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และให้บริการซ่อมบำรุงแก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ฮอนด้า” ตามสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่าย โจทก์ลงทุนสร้างสถานประกอบกิจการตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดแล้ว และดำเนินกิจการของโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายฉบับใหม่กับโจทก์และผู้จำหน่ายรายอื่น ตามสัญญาผู้จำหน่าย โดยในสัญญานี้ ข้อ 8.1 ระบุว่า “คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อยเก้าสิบ (90) วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้” ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 โดยนายธีระพัฒน์ กรรมการฝ่ายบริหารฝ่ายขายบริษัทจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น มีหนังสือถึงโจทก์บอกเลิกการต่ออายุสัญญาผู้จำหน่ายฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ตามสำเนาหนังสือการบอกเลิกสัญญาผู้จำหน่าย ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2554 จำเลยที่ 1 ตัดระบบการสั่งซื้อสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกการต่ออายุสัญญาผู้จำหน่ายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สัญญาผู้จำหน่ายฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นแทนสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2546 ซึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่าย ข้อ 17 กำหนดอายุของสัญญาไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 ในกรณีที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกการต่ออายุสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน ก่อนหมดอายุสัญญา ให้ถือว่าสัญญามีผลใช้บังคับต่อไปอีก 1 ปี ทุกปี จนกว่าจะมีการบอกเลิกการต่ออายุสัญญาดังกล่าวในแต่ละปี ต่อไปทุก ๆ ปี เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ตกลงทำสัญญากันใหม่ขึ้นแทนฉบับเดิม และในสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงเรื่องการเลิกสัญญากำหนดไว้ในข้อ 15 ทำนองว่า การบอกเลิกสัญญานั้น คู่สัญญาต้องแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ที่บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยกเลิกสัญญาโดยไม่แจ้งให้ผู้จำหน่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ กรณีที่ผู้จำหน่ายปฏิบัติผิดสัญญาข้อตกลงหรือเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งของสัญญาและไม่ดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วัน นับจากวันได้รับหนังสือเตือนจากบริษัทจำเลยที่ 1 กรณีที่ผู้จำหน่ายหยุดดำเนินกิจการหรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่าหยุดดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน และกรณีที่ผู้จำหน่ายปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่มีต่อบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนข้อ 2.2 กำหนดเรื่องอายุสัญญาไว้ทำนองว่า ให้อายุของสัญญานี้เริ่มตั้งแต่วันทำสัญญาซึ่งระบุไว้ที่หัวสัญญา และสิ้นสุดเมื่อสิ้นเวลาทำการในวันครบรอบปีที่ 1 ของวันทำสัญญา เว้นแต่จะมีการบอกเลิกสัญญาก่อนตามข้อตกลงการบอกเลิกสัญญาตามสัญญานี้ อย่างไรก็ดี หากไม่มีการบอกเลิกสัญญาก่อนตามข้อตกลงการบอกเลิกสัญญานี้ ให้สัญญานี้ได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติคราวละ 1 ปี เมื่อครบอายุสัญญา ส่วนข้อ 8.1 กำหนดเรื่องการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาไว้ทำนองว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ โดยยังคงมีข้อตกลงการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากการปฏิบัติผิดสัญญา หรือกรณีเหตุสุดวิสัย หรือเนื่องจากผู้จำหน่ายปฏิบัติผิดสัญญากำหนดไว้ด้วยในข้อ 8.2 ข้อ 8.3 และข้อ 8.4 ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงที่ระบุให้สิทธิคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายในการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดปฏิบัติผิดสัญญานั้นมีปรากฏอยู่ในทั้งสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายและสัญญาผู้จำหน่ายดังกล่าวนั้น เป็นข้อตกลงที่มีขึ้นเพื่อรองรับการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่จะไม่ต่ออายุสัญญาดังกล่าวต่อไป หาใช่เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิคู่สัญญาบอกเลิกสัญญาเพื่อให้สัญญาสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่อย่างใดไม่
ส่วนปัญหาว่าข้อตกลงดังกล่าวในสัญญาผู้จำหน่าย และสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่าย เป็นสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมในความหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 หรือไม่นั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น ซึ่งโจทก์มีนายดุสิต กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานและเอกสารที่เกี่ยวข้องว่า โจทก์มีความสนใจที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า และทราบจากจำเลยที่ 1 ว่า การจะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้านั้นต้องมีสถานประกอบการเสนอต่อจำเลยที่ 1 โจทก์จึงลงทุนก่อสร้างและตกแต่งอาคารเพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 จากคำเบิกความของนายดุสิตดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความประสงค์จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จึงมีการแสวงหาข้อมูลด้วยการติดต่อเจรจากับจำเลยที่ 1 เพื่อทราบถึงคุณสมบัติของผู้จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 แล้วจึงมีการจัดทำสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 ซึ่งในสัญญาดังกล่าวระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และนายดุสิตเองเบิกความยอมรับว่า มีการต่ออายุสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าดังกล่าวโดยอัตโนมัติทุกปีไปตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งปี 2551 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาผู้จำหน่าย ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8.1 ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมที่ระบุไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่าย นอกจากนี้ ยังได้ความจากที่นายดุสิตเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า พี่ชายนายดุสิตเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2533 นายดุสิตเข้าเป็นหุ้นส่วนกับพี่ชายในธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 และทราบว่าธุรกิจของพี่ชายดังกล่าวมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจำนวนมาก เชื่อได้ว่านายดุสิตซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่าย ย่อมทราบถึงเงื่อนไขและคุณสมบัติการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 อยู่บ้างแล้ว ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาถึงประสบการณ์ในธุรกิจด้านนี้ของนายดุสิตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ตั้งแต่เป็นหุ้นส่วนดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกับพี่ชายประกอบด้วย จึงตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาผู้จำหน่าย ซึ่งระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาโดยไม่กล่าวถึงเหตุแห่งการบอกเลิกว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในสัญญาอย่างไรบ้างนั้น นอกจากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจะเป็นไปตามข้อตกลงข้อ 8.1 ตามสัญญาผู้จำหน่าย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเพราะมิใช่ข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 มากไปกว่าสิทธิในการบอกเลิกการต่ออายุสัญญาดังกล่าวของโจทก์ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 อีกว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 นายธีระพัฒน์มีหนังสือถึงโจทก์ในนามจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาผู้จำหน่าย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา ข้อ 8.1 คือ ส่งหนังสือถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน เพื่อให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ตามกำหนดระยะเวลาของสัญญาที่มีการต่ออายุออกไปโดยอัตโนมัติคราวละ 1 ปี ตามข้อตกลงในสัญญา ข้อ 2.2 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ที่จะไม่ต่ออายุสัญญาผู้จำหน่ายต่อไปอีก ซึ่งในขณะนั้นนายธีระพัฒน์เป็นพนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารฝ่ายขายบริษัทจำเลยที่ 1 และมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 รวมตลอดจนการทำสัญญาและการยกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายยานพาหนะประเภทรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามแผนผังองค์กรและสำเนาสัญญาจ้างผู้บริหารบริษัทจำเลยที่ การกระทำของนายธีระพัฒน์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามอำนาจหน้าที่ของตนนอกจากนี้ ยังได้ความจากนายณัฐชัย พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสามประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานและเอกสารที่เกี่ยวข้องสรุปความได้ว่า ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าให้แก่จำเลยที่ 1 นี้ โจทก์ต้องดูแลมาตรฐานการให้บริการทั้งในส่วนการขายและการให้บริการหลังการขายตามมาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด เพื่อให้มีการบริการเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น จึงไม่จำกัดการดูแลเฉพาะเรื่องการทำยอดจำหน่ายสินค้ารถจักรยานยนต์ฮอนด้าเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบและดูแลการให้บริการหลังการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอะไหล่และการบริการดูแลซ่อมบำรุงด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการของศูนย์หรือร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์แต่ละราย ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่การทำสัญญาฉบับแรกในปี 2546 โจทก์ส่งช่างบริการเข้าอบรมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2548 และจากการตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการร้านของโจทก์ได้คะแนนสำหรับการทำยอดจำหน่ายตามเป้าหมายในปี 2548 เพียง 42 คะแนน ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของตัวแทนจำหน่ายสินค้ารถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 ทั่วประเทศอยู่ที่ระดับ 80 คะแนน ส่วนในปี 2549 ร้านของโจทก์ได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 29 คะแนน ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศอยู่ที่ระดับ 83 คะแนน ตามใบสรุปผลการดำเนินงานของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีนโยบายไม่ว่าจ้างบริษัทไปตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการของตัวแทนจำหน่ายที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน เป็นหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายซึ่งได้คะแนนต่ำนั่นเองที่จะต้องมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนัดหมายการตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการเมื่อพร้อมให้ตรวจสอบ แต่โจทก์ก็ไม่ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนัดหมายให้มีการตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการของโจทก์ตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่งวันที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกการต่ออายุสัญญา ซึ่งนายดุสิต กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของโจทก์ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 บอกเลิกการต่ออายุสัญญา ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด ส่วนที่นายดุสิตอ้างถึงเหตุที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของโจทก์ลดลงว่า เพราะนายธีระพัฒน์ไม่พอใจที่นายดุสิตแสดงความเห็นในการประชุมตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 ว่า นายธีระพัฒน์จัดสรรโควตารถจักรยานยนต์ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายไม่เป็นธรรมนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการประชุมในปี 2551 ข้อเท็จจริงปรากฏว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ลดลงตั้งแต่ปี 2550 ก่อนมีการแสดงความเห็นในที่ประชุมดังกล่าว คำเบิกความของนายดุสิตกับข้อเท็จจริงจึงขัดแย้งกัน ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์แจ้งจำนวนลูกค้าประสงค์จะสั่งซื้อรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจากโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจัดส่งรถจักรยานยนต์ฮอนด้าให้แก่โจทก์เพียงพอตามจำนวนลูกค้าซึ่งสั่งซื้อหรือสั่งจองสินค้าล่วงหน้าแต่อย่างใด และที่โจทก์กล่าวอ้างว่านายธีระพัฒน์กลั่นแกล้งโจทก์ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าลดลงนั้นก็ขัดต่อเหตุและผล เพราะหากนายธีระพัฒน์กลั่นแกล้งจริงย่อมต้องส่งผลกระทบต่อธุรกิจของจำเลยที่ 1 ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนายธีระพัฒน์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายบริหารงานขายย่อมต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อผลประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในการบอกเลิกการต่ออายุสัญญาผู้จำหน่าย ด้วยการมีหนังสือบอกเลิกการต่ออายุสัญญาล่วงหน้า 90 วัน ก่อนครบกำหนดระยะเวลาสิ้นอายุสัญญา ไม่ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือบอกเลิกสัญญาโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาหรือผิดข้อตกลงตามสัญญาแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อตกลงที่ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 แห่งสัญญาผู้จำหน่าย จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงตามข้อ 8.1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกการต่ออายุสัญญาดังกล่าวเพื่อยุติการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติรายปีอันสืบเนื่องจากโจทก์มียอดจำหน่ายต่ำกว่าเป้าหมายและขาดการตรวจสอบมาตรฐานและประเมินการให้บริการในฐานะตัวแทนจำหน่ายสินค้าและการให้บริการในนามจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยข้อตกลงข้อ 8.1 ในสัญญาผู้จำหน่าย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อตกลงข้อ 8.1 ดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 สัญญาผู้จำหน่าย จึงไม่เลิกกันนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้งดการชี้สองสถาน และให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยต่อไป จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับแถลงว่าประสงค์จะสืบพยาน 2 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัด และดำเนินกระบวนพิจารณาถามค้านพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบและนำสืบพยานจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและถือได้ว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอุทธรณ์ได้อีก เพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 6 กันยายน 2554 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความแก่โจทก์จำนวน 30,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share