แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 16 กำหนดว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้” การที่นาย ม. ได้แบ่งการจัดซื้อจากใบสั่งของฝ่ายต่างๆในบริษัทแยกเป็นการจัดซื้อแต่ละใบไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อจะได้ทำการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษไม่ต้องใช้วิธีสอบราคา จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2547 ข้อ 16 และเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างนาย ม. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย และ ป.พ.พ. มาตรา 583
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่97/2549 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 และให้ยกคำร้องของนายมาริศที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงาน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 16 กำหนดว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้” กรณีที่มีใบขอซื้อใบเดียวจากผู้ขอซื้อ นายมาริศได้แบ่งใบขอซื้อดังกล่าวออกเป็นใบขอซื้อหลายใบลงวันที่เดียวกัน สั่งซื้อจากผู้ขายรายเดียวกันเพื่อแบ่งใบสั่งซื้อแต่ละใบให้มีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 22 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,227,394.40 บาทเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่นายมาริศได้แบ่งการจัดซื้อจากใบสั่งของฝ่ายต่าง ๆ ในบริษัทแยกเป็นการจัดซื้อแต่ละใบไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อจะได้ทำการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษไม่ต้องใช้วิธีสอบราคา ดังนั้น การแบ่งการจัดซื้อของนายมาริศดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อให้อำนาจการอนุมัติการซื้อเปลี่ยนไป การที่นายมาริศแบ่งการซื้อพัสดุโดยการสั่งซื้อแต่ละใบไม่เกิน 100,000 บาท จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 16 ดังกล่าว โจทก์ประกอบกิจการเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารสัตว์ มีวัตถุประสงค์สำคัญหลายประการรวมทั้งการซื้อ จัดหา รับ เช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองปรับปรุง ใช้ และจัดการโดยประการอื่นซึ่งทรัพย์ใด ๆ ตลอดจนดอกผลของทรัพย์สินนั้นตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 (แผ่นที่ 1 ถึงที่ 4) ระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 16 ที่กำหนดว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำไม่ได้” ก็เพื่อควบคุมดูแลให้พนักงานของโจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบดังกล่าว ประกอบกับคำว่า “จะกระทำไม่ได้” มีลักษณะเป็นข้อกำหนดที่เป็นข้อห้ามอย่างชัดแจ้ง ระเบียบข้อดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พนักงานของโจทก์จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเพื่อให้การจัดจ้างของโจทก์มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการแข่งขัน และเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อผิดพลาดทางธุรกิจ หรือเกิดโอกาสทุจริตขึ้นได้ การที่นายมาริศแบ่งการจัดซื้อพัสดุโดยแยกการสั่งซื้อแต่ละใบไม่เกิน 100,000 บาท มิใช่เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษตามระเบียบของโจทก์แต่อย่างใด การกระทำของนายมาริศเป็นการฝ่าฝืนระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 และเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างนายมาริศได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้าง และเนื่องจากโจทก์เลิกจ้างนายมาริศตามมาตรา 119 โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง 1 วัน เป็นเงิน 6,666.66 บาท คงจ่ายเฉพาะค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 9 วัน เป็นเงิน 59,999.99 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 2 ที่ 97/2549 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ยกเว้นในส่วนของค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 9 วัน เป็นเงิน 59,999.99 บาท