คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าอาวาสมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ย่อมมีสิทธิที่จะพิเคราะห์สั่งการในการซ่อมวิหารซึ่งชำรุดว่าจะเป็นการสมควรประการใดเมื่อเจ้าอาวาสเห็นว่าการซ่อมแซมควรหันหน้าวิหารและพระประธานไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับโบสถ์ เป็นระเบียบแบบแผนตามแผนผังของคณะสงฆ์ ใครจะอ้างความศรัทธาฝ่าฝืนเข้าซ่อมวิหารโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าอาวาสนั้นมิได้หากยังขัดขืนเข้าซ่อมโดยพลการ เจ้าอาวาสย่อมมีสิทธิยับยั้งขัดขวางไว้โดยไม่เป็นการกระทำละเมิดด้วยการใช้สิทธิอันมีแต่จะเกิดการเสียหายแก่ผู้ใด
การซ่อมวิหารกับการปฏิบัติพิธีกรรมในศาสนาเป็นคนละเรื่องกันใครจะอ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเข้าซ่อมวิหารโดยพลการหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพวกผู้มีศรัทธาจะซ่อมหลังคาวิหารวัดโบสถ์ซึ่งชำรุด แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอวัดโบสถ์กลับขัดขวาง โดยกล่าวว่าจะเอาตำรวจจับ เพราะโจทก์กับพวกไม่หันหน้าวิหารและพระประธานไปทางทิศตะวันออก โจทก์มีหนังสือรายงานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก และมีหน้าที่บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่รายงานขึ้นไปตามลำดับหรือสั่งมิให้จำเลยที่ 2 ขัดขวาง กลับมีหนังสือถืงโจทก์ให้พูดปรับความเข้าใจกันใหม่ แสดงว่าจำเลยทั้งสองร่วมคบคิดสนับสนุนกันขัดขวางโจทก์กับผู้มีศรัทธาเป็นการใช้สิทธิมีแต่จะเกิดการเสียหายแก่โจทก์ อันมิชอบด้วยกฎหมายขอให้บังคับจำเลยมิให้ดำเนินการขัดขวางการซ่อมแซมหลังคาวิหารด้วยวิธีใด ๆ

จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า กรณีตามฟ้องไม่เป็นละเมิด โจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ขัดขวางการซ่อมวิหาร โจทก์ไม่เคยติดต่อด้วยตนเอง แต่มีญาติไปติดต่อ จำเลยที่ 2 แนะนำโดยสุจริตใจว่า การซ่อมควรหันหน้าวิหารและพระประธานไปทางทิศตะวันออก เพื่อเป็นแนวเดียวกับโบสถ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งให้จำเลยที่ 2 ต้องยินยอมให้โจทก์ซ่อมวิหาร

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามคำฟ้องและคำให้การ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยขัดขวาง แต่จำเลยปฏิเสธหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ก็ไม่มีทางชนะคดี พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ความตามฟ้องและคำให้การ มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจะบังคับจำเลยมิให้ขัดขวางในการซ่อมหลังคาวิหารได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 37 บัญญัติว่า “เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ฯลฯ” ดังนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์จึงมีหน้าที่บำรุงรักษาวัดโบสถ์ จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดรวมทั้งวิหารที่พิพาท โดยมีสิทธิที่จะพิเคราะห์สั่งการในการซ่อมวิหารนั้นว่าจะเป็นการสมควรประการใดการซ่อมแซมจึงจะเป็นไปด้วยดี และเมื่อจำเลยที่ 2 เห็นว่า การซ่อมแซมควรหันหน้าวิหารและพระประธานไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับโบสถ์ เป็นระเบียบแบบแผนตามแผนผังของคณะสงฆ์ โจทก์กับพวกแม้จะมีจิตศรัทธาในการซ่อมหลังคาวิหารเพียงใด ก็ไม่มีทางฝ่าฝืนขืนเข้าซ่อมหลังคาวิหารโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 นั้นได้ หากยังขืนจะเข้าซ่อมโดยพลการ โดยอำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิที่จะยับยั้งขัดขวางได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิจะขัดขวางโจทก์กับพวกซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการซ่อมวิหาร ที่จำเลยที่ 1 มิได้สั่งจำเลยที่ 2 มิให้ขัดขวางนั้น ไม่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการใช้สิทธิอันมีแต่จะเกิดการเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

ที่โจทก์ฎีกาว่า มีเสรีภาพในการซ่อมหลังคาวิหารและการซ่อมวิหารเป็นการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของโจทก์กับพวกในศาสนาอย่างหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การซ่อมวิหารและการปฏิบัติพิธีกรรมในศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน และเสรีภาพของโจทก์กับพวกก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังวินิจฉัยข้างต้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยนั้น หลักพระธรรมวินัยที่โจทก์อ้างจะถูกแท้แน่นอนหรือไม่ประการใด กรณีไม่อยู่ในอำนาจศาลที่จะวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share