คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 มีใจความว่าทำละเมิดโดยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างได้ลักเอาสลากกินแบ่งที่โจทก์ส่งไปรษณียภัณฑ์ไป ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้มิได้ระบุหมายเลขสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลไว้และมิได้ระบุว่าฉบับใดหายไป ก็เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของซึ่งโจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องกล่าวมาในฟ้อง จึงหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้มีหน้าที่ในการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลักสลากกินแบ่งของโจทก์ที่สอดมาในซองจดหมายไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนของโจทก์ไปอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ควรต้องรับผิดหรือรับผิดใช้ค่าเสียหายก็ไม่เกิน 160 บาทตามไปรษณีย์นิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 539 นั้นข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีไปรษณียภัณฑ์สูญหายไปเพราะความผิดในการขนส่งจะนำมาใช้บังคับในกรณีละเมิดหาได้ไม่
จำเลยที่ 2 มีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่ซุ้มริมถนนราชดำเนินและรับซื้อสลากกินแบ่งที่มีผู้นำมาขาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้จักกับผู้ที่นำสลากมาขายทั้งปรากฏว่าได้รับซื้อไว้โดยเปิดเผย กับได้นำสลากดังกล่าวไปขึ้นเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยตนเองโดยเปิดเผย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อสลากไว้โดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้อง ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ซื้อจากท้องตลาดก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ โจทก์นำสลากที่ถูกรางวัลเลขท้าย ๓ ตัวและเลขท้าย ๒ ตัว รวม ๑๘๘ ฉบับ เป็นเงิน ๕๙,๒๐๐ บาท ส่งไปให้น้องชายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทางไปรษณีย์อากาศเป็นจดหมายลงทะเบียนรวม ๒ ฉบับ ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากน้องชายว่า จดหมายดังกล่าวมีรอยแกะซอง และไม่มีสลากที่โจทก์ส่งไปแม้แต่ฉบับเดียว เมื่อตรวจสอบแล้ว จึงทราบว่าจดหมายดังกล่าวถูกลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่รับขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ลักเอาสลากไประหว่างอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ แล้วนำไปขึ้นเอาเงินรางวัลอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดในความเสียหายที่ลูกจ้างได้ก่อขึ้นต่อโจทก์จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ประกอบอาชีพจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและรับซื้อสลากที่ถูกรางวัลด้วยได้รับซื้อสลากของโจทก์จากลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ โดยรู้หรือควรรู้ว่าสลากดังกล่าวประทับเลขหมายประจำตัวของโจทก์ไว้ซึ่งแสดงว่าเจ้าของประสงค์ที่จะนำไปรับรางวัลด้วยตนเอง การที่รับซื้อสลากของโจทก์ไว้โดยไม่สุจริต ย่อมเป็นละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน ๖๓,๖๔๐ บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ชำระ จึงขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์มิได้บรรจุสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ในซองจดหมายทั้งสองฉบับ จดหมายมิได้ถูกแกะและสลากถูกลักในระหว่างอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ และตามข้อบังคับไปรษณีย์นิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ข้อ ๕๓๙ จำเลยที่ ๑จะต้องรับผิดเฉพาะกรณีไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนสูญหายไปทั้งฉบับหรือห่อ โดยใช้ค่าเสียหายให้ฉบับหรือห่อละไม่เกิน ๘๐ บาท จำเลยที่ ๑ จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สลากจำนวน ๑๘๘ ฉบับที่โจทก์ฟ้องมีผู้นำมาขึ้นเงินจากจำเลยที่ ๒ ตามปกติทั่วไป จำเลยที่ ๒ รับซื้อไว้โดยสุจริตไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๕๘,๑๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย ส่วนคำขอของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ มีใจความว่าทำละเมิดโดยลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ในทางการที่จ้างได้ลักเอาสลากกินแบ่งที่โจทก์ส่งไปรษณียภัณฑ์ไป ขอให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายจ้างรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ หมายเลขสลากกินแบ่งจึงเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของซึ่งโจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องกล่าวมาในฟ้อง เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลักสลากกินแบ่งของโจทก์ที่สอดมาในซองจดหมายไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนของโจทก์ไปอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ไม่ควรต้องรับผิดหรือรับผิดใช้ค่าเสียหายก็ไม่เกิน ๑๖๐ บาท โดยอ้างไปรษณีย์นิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ข้อ ๕๓๙ นั้นศาลฎีกาเห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีไปรษณียภัณฑ์สูญหายไป เพราะความผิดในการขนส่ง จะนำมาใช้บังคับในกรณีละเมิดหาได้ไม่
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๕๘,๑๐๐ บาทด้วยนั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้รู้จักกับผู้นำสลากมาขายให้มาก่อนแต่อย่างใด ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ รับซื้อสลากไว้โดยเปิดเผยและนำไปขึ้นเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยตนเองโดยเปิดเผย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ รับซื้อสลากไว้โดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้อง ถึงแม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ซื้อสลากจากท้องตลาดก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ทำละเมิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้อง
พิพากษายืน

Share