คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5358/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย เจ้าหนี้อื่นได้ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในคดีดังกล่าวแล้ว ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีของโจทก์หรือไม่ และแม้ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรก็ไม่มีกฎหมายยกเว้นว่าไม่ต้องจำหน่ายคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์อยู่จำนวน542,472.48 บาท จำเลยเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า จำเลยได้ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.749/2531 ของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15หมายความว่า กรณีที่ศาลสั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ให้จำหน่ายคดีซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องไว้เสียโดยมิต้องคำนึงถึงว่าคดีอื่นนั้นศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเวลาต่อมาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยได้ถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่งและคดีนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า มาตรา 15 ดังกล่าวก็หาได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า คำว่าเจ้าหนี้อื่นนั้นหมายความรวมถึงเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบด้วย ทั้งมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหนี้อื่น ๆ นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 15 ดังกล่าวมิได้บัญญัติยกเว้นถึงเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบไว้เป็นพิเศษ จึงต้องรวมอยู่ในความหมายของคำว่า “เจ้าหนี้อื่น” ทั้งบทบัญญัติในมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็เป็นกรณีที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องและคนละขั้นตอนกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share