คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โคของผู้เสียหายติดเข้าไปอยู่ในฝูงโคของจำเลย แยกไม่ออก ผู้เสียหายจึงสั่งจำเลยขอให้ดูไว้ด้วย
การพูดเช่นนี้จะถือว่าเป็นการรับมอบหมาย อันจะกลายเป็นผิดฐานยักยอกยังไม่ได้
ที่สุดเมื่อจำเลยกับพวกพาเอาโคของผู้เสียหายไป จึงมีความผิดฐานลักปศุสัตว์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 294
แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ใช้อยู่บัดนี้ ไม่มีบัญญัติถึงการลักปศุสัตว์และสัตว์พาหนะโดยเฉพาะเช่นในมาตรา 294 (ก.ม.อาญา) จึงต้องใช้มาตรา 293 (ก.ม.อาญา) ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเป็นบทลงโทษจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกอีก ๒ คนที่ยังไม่ได้ตัวสมคบกันลักโค ๑ ตัวของนางเกี้ยงไป ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเชื่อตามคำพยานโจทก์ ฟังว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้องจริง พิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๙๔ ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ถนัดว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักโครายนี้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ฟังได้ว่า โคของผู้เสียหายติดตัวเมียรวมเข้าไปในฝูงโคของจำเลยและในที่สุดมีผู้เห็นจำเลยกับพวกพาโคของผู้เสียหายไป แต่การที่ผู้เสียหายสั่งจำเลยขอให้จำเลยดูไว้ให้ด้วยนั้น เห็นว่าการพูดเช่นนี้จะถือว่าเป็นการรับมอบหมายอันจะกลายเป็นผิดฐานยักยอกยังไม่ได้ เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ใช้อยู่บัดนี้ ไม่มีบัญญัติถึงการลักปศุสัตว์และพาหนะโดยเฉพาะ เช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๔ กฎหมายลักษณะอาญา ต้องใช้มาตรา ๒๙๓ กฎหมายลักษณะอาญาซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเป็นบทลงโทษจำเลย พิพากษากลับบังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ใช้มาตรา ๒๙๓ กฎหมายลักษณะอาญาเป็นบทลงโทษแทน.

Share