แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดหลายกระทงต้องกระทำต่างกรรมต่างวาระกันทำยาปลอมเครื่องหมายการค้า เพื่อขาย เป็นความผิดหลายบทตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 236(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา273) และ พระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ.2493 มาตรา 37 วรรคแรกไม่ใช่หลายกระทงศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ.2493 มาตรา37 ซึ่งโทษหนักกว่ามาตรา236
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2495 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2496 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยนี้ได้บังอาจทำปลอมเครื่องหมายการค้าของบริษัทไบเออร์ โดยจำเลยทำปลอมตัวอักษรBAYER (ไบเออร์) ซึ่งเรียงกันเป็นกากบาทอยู่ในวงกลมและในระหว่างวันเวลาดังกล่าวมาแล้ว จำเลยได้ทำยาเม็ดสีเหลืองขึ้นแล้วจำเลยได้บังอาจเอาเครื่องหมายการค้า BAYER ซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นนั้นประทับลงบนยาเม็ดสีเหลืองนั้น เพื่อปลอมเป็นยาอาเตบรินชนิดเม็ดของบริษัทไบเออร์ โดยจำเลยรู้อยู่ว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะทำได้ และเพื่อลวงว่า เป็นยาอาเตบรินของบริษัทไบเออร์ที่แท้จริง เครื่องหมายการค้า ซึ่งตัวอักษรเรียงเป็นกากบาทอยู่ภายในวงกลมเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทไบเออร์ประเทศเยอรมันนี และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยตามกฎหมายแล้ว โดยห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์แอนด์โกเป็นตัวแทนและผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมาย และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้ได้ใช้ในการค้าขาย ระหว่างวันเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยได้บังอาจทำการขายยาปลอม โดยจำเลยมียาเม็ดแก้ไข้สีเหลือง ซึ่งปลอมเป็นยาอาเตบรินของบริษัทไบเออร์ เป็นจำนวนหนัก 5.50 กิโลกรัมไว้เพื่อขายโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นยาซึ่งทำปลอมเป็นยาอาเตบรินของบริษัทไบเออร์ที่แท้จริงอันเป็นการกระทำให้ผู้อื่นสำคัญผิดในชื่อแหล่งผลิตผู้ผลิต สภาพหรือคุณภาพตามที่เป็นจริงของยานั้น เหตุเกิดที่ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษมาแล้วตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง (โทษปรับเล่นการพนันพ้นโทษเมื่อ 29 ธันวาคม 2482) ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 235, 236, 71 พระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 18, 19, 37 วรรคท้าย กับขอให้สั่งริบของกลางด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ส่วนรายละเอียดจะได้ให้การต่อศาลในชั้นพิจารณา ข้อเคยต้องโทษรับเป็นความจริง
ทางพิจารณาได้ความว่า ยาเม็ดอาเตบรินแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่นเป็นของบริษัทไบเออร์ประเทศเยอรมัน มีตราอักษรโรมันเขียนว่า BAYER ไขว้กันเป็นรูปกากบาทภายในวงกลม ห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นผู้แทนในประเทศไทย ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จำเลยเคยมีอาชีพทางขายยาได้รับใบอนุญาตขายยาประเภท ก. แต่ได้หยุดเลิกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เมียจำเลยชื่อนางหยกฟุ้ยมีอาชีพทางพยาบาลและผดุงครรภ์ ร้านจำเลยและภริยาซึ่งตั้งทำมาหากินใช้ยี่ห้อว่า เวลแมนดรั๊ก ตั้งอยู่ที่ถนนผดุงด้าว สามแยก ห่างสถานีตำรวจสามแยกประมาณ 300 เมตรเป็นตึก 3 ชั้น ชั้นล่างจัดเป็นที่รับแขก ชั้นที่สองจัดเป็นสถานผดุงครรภ์ ซึ่งภริยาจำเลยเป็นผู้รับใบอนุญาต ชั้นที่สามเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและภริยา ส่วนชั้นดาดฟ้าใช้เป็นที่ตากผ้า และมีห้องสังกะสีล้อมอยู่ห้องหนึ่งเป็นห้องที่จำเลยทำขึ้นเอง จำเลยเคยมาติดต่อซื้อยาไปจำหน่ายจากห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นที่รู้จักดีกับผู้จัดการแผนกยาของห้างนั้น
ที่จะเกิดเหตุจับกุมเรื่องนี้ขึ้น ปรากฏว่า ทางตำรวจทราบว่าที่ร้านขายยาเวลแมนดรั๊กทำยาปลอมจำหน่าย จึงได้ไปตรวจค้นจับกุมในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ในห้องสังกะสีบนชั้นดาดฟ้าพบเครื่องมือทำเม็ดยา ที่เครื่องมือนั้นมีอักษร BAYER ไขว้เป็นกากบาทเป็นตัวอักษรโรมันอยู่ตรงที่สำหรับปั๊มเม็ดยา กับมียาสีเหลืองขนาดใหญ่ยังไม่ได้ปั๊ม และเม็ดยาสีเหลืองขนาดเล็กที่ปั๊มตัวอักษรโรมัน BAYER ไขว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีผงยาสีเหลืองอีกเป็นจำนวนมากและมีของอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ปรากฏตามบัญชีของกลางท้ายฟ้อง
พนักงานสอบสวนได้ส่งยาเม็ดกับผงสีเหลืองของกลางไปพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปรากฏว่า ยาเม็ดสีเหลืองที่ประทับตัวอักษร BAYER เป็นยาปลอม ไม่ใช่ยาอาเตบรินของบริษัทไบเออร์แต่ยาของกลางก็เป็นยาประเภทเมปาครีน ไฮโดรโคลไร้ค์ ซึ่งใช้ในการรักษาไข้มาลาเรียได้เช่นเดียวกัน
จำเลยนำสืบอ้างว่า นายเฮงเป็นผู้ทำยาปลอมนี้
ศาลชั้นต้นเชื่อว่า จำเลยได้บังอาจปลอมเครื่องหมายการค้าดังโจทก์ฟ้องจริง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 236 ให้จำคุกไว้ 9 เดือน ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 คง ให้จำคุกไว้ 6 เดือน ของกลางริบ ส่วนข้อที่โจทก์หาว่า จำเลยขายยาปลอม โดยมียาปลอมไว้เพื่อจำหน่าย คดียังไม่พอจะฟังดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า มีการจับยาปลอมได้บนดาดฟ้า ในบริเวณอาคารซึ่งจำเลยอาศัยอยู่เท่านั้น และคดียังไม่ปรากฏว่ายาดังกล่าวได้อยู่ในลักษณะใกล้ชิดกับการที่จะขายแต่อย่างใด ข้อหาฐานนี้จึงฟังไม่ได้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานขายยาปลอมด้วย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำผิดดังข้อหา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493มาตรา 4 การขายยาหมายความรวมถึงการผลิตเพื่อขายด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานขายยาปลอมตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 37 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกอีก 6 เดือน ลดโทษฐานปรานีให้ 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงให้จำคุกอีก 4 เดือน รวมเป็นโทษจำคุก 10 เดือน
จำเลยฎีกาต่อมาว่า ไม่ได้กระทำผิดตามข้อหาโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยเห็นว่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คงรับ แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า จำเลยจะมีความผิดฐานขายยาปลอมด้วยหรือไม่
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว
พระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ให้นิยามคำว่า”ขาย” ไว้ว่า “ให้หมายความรวมตลอดถึงแลกเปลี่ยน ผลิตเพื่อขายนำเข้าในราชอาณาจักรเพื่อขาย และมีไว้เพื่อขาย” ยาของกลางที่จับมาได้ ทั้งที่สำเสร็จแล้วและยังทำไม่เสร็จมีจำนวนมากมาย แสดงว่าจำเลยผลิตเพื่อขายและมีไว้เพื่อขาย อันถือว่าเป็นการขายตามพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้ว ถึงแม้จำเลยจะยังไม่ได้ขายไปจริง ๆ ความผิดหลายกระทงนั้นจะต้องกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ความผิดของจำเลยหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากเป็นความผิดหลายบท
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 37 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 236 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273) แต่โทษเห็นควรกำหนดเท่าศาลชั้นต้น จึงให้จำคุกจำเลยไว้ 9 เดือน ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงให้จำคุกจำเลยไว้ 6 เดือน