คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาข้อความสัญญาซื้อขายในส่วนหลังทั้งหมดแล้วถ้ามีการเลิกสัญญาก็ให้ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกค่าชดเชยราคาสินค้าทีเพิ่มขึ้นและเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากเบี้ยปรับ เท่ากับนอกจากเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ยังเรียกเบี้ยปรับที่นับจากวันหลังจากวันที่ส่งมอบของถึงวันบอกเลิกสัญญาได้ด้วย กรณีของโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องเลิกสัญญา ต้องใช้ข้อความส่วนหลังในสัญญาบังคับโจทก์จึงมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 ได้ เบี้ยปรับคือค่าเสียหายซึ่งคู่ความตกลงกันล่วงหน้าเบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 จะส่งมอบเครื่องปั่นด้ายและเครื่องทอผ้าให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2529 และส่งมอบเครื่องเย็บลวดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 หากจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าล่าช้า โจทก์มีสิทธิปรับวันละ 0.2 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ถ้าส่งมอบช้าเกินกว่า 50 วัน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และตกลงยินยอมด้วยกับการผ่อนเวลา และยอมรับผิดจำนวนเงิน 670,000 บาท จำเลยที่ 1ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่4 กุมภาพันธ์ 2530 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าปรับจำนวนเงิน 1,055,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สินค้าพิพาทต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการนำเข้ามาเพื่อการศึกษาโจทก์มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองว่าสินค้านำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการศึกษา แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมออกหนังสือรับรอง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และไม่มีสิทธิริบค่าประกันจำนวนเงิน670,000 บาท และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที 1ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เหตุล่าช้าเกิดจากความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และมีสิทธิริบเงินตามหนังสือค้ำประกัน แต่ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพราะไม่มีการส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กรกฎาคม 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาซื้อขายกำหนดว่า”หากผู้ขายมิได้ส่งมอบของให้แก่ผู้ซื้อได้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นวันละเศษ 1 ส่วน 5 ของหนึ่งส่วนร้อย (0.2%) ต่อวัน ทั้งนี้จนกว่าผู้ขายได้ส่งมอบของให้ได้ครบถ้วนตามสัญญา ถ้าความล่าช้าดังกล่าวนี้เกินกว่า 50 วัน ผู้ซื้ออาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าชดเชยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือ จากเบี้ยปรับที่นับจากวันหลังจากวันที่ส่งมอบของถึงวันบอกเลิกสัญญา” เมื่อพิจารณาข้อความในส่วนหลังทั้งหมดแล้ว ถ้ามีการเลิกสัญญาก็ให้ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกค่าชดเชยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากเบี้ยปรับ เท่ากับนอกจากเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ยังเรียกเบี้ยปรับที่นับจากวันหลังจากวันที่ส่งมอบของถึงวันบอกเลิกสัญญาได้ด้วย กรณีของโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องเลิกสัญญา ต้องใช้ข้อความส่วนหลังในสัญญาบังคับโจทก์จึงมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 ได้ เบี้ยปรับนั้นถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่าง โจทก์ได้รับค่าเสียหายอยู่แล้วเป็นเงิน 670,000 บาท จึงให้โจทก์ได้รับชำระในส่วนของเบี้ยปรับอีก 80,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด 750,000 บาท จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดร่วมด้วย 670,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดเป็นเงิน 670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินที่ร่วมรับผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share