คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยหักเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไว้ โดยจำเลยมีประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงาน เอกสารหมาย ล.11 กำหนดจะคืนเงินประกันการทำงานให้แก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบค้ำประกันพนักงานเอกสารหมาย ล.12 กำหนดจะคืนเงินประกันการทำงานให้แก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวจึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จำเลยต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ลาออก เมื่อจำเลยไม่คืนจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 10 วรรคสอง สำหรับเงินเพิ่มซึ่งนายจ้างจะต้องเสียให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจหรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ลาออกยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่ค้างจ่าย เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายค่าพาหนะ และเงินประกันการทำงานรวมทั้งสิ้นจำนวน 30,725.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค้ำประกัน (ที่ถูกเงินประกันการทำงาน ) 20,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานและเงินเพิ่มทุกระยะเวลาเจ็ดวันแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี และในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า จำเลยได้หักเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยได้มีประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงานเอกสารหมาย ล.11 กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้ายและประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงาน เอกสารหมาย ล.11 กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน เอกสารหมาย ล.12 กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากทำงานวันสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวจึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออกอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ลาออก เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกในวันที่ 11 มีนาคม 2546 และมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 เมื่อจำเลยไม่คืนจึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 อันเป็นวันผิดนัดตลอดระยะเวลาที่ยังไม่คืนแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง สำหรับเงินเพิ่มซึ่งนายจ้างจะต้องเสียให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจหรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ก่อนพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออกยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง แต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share