แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น… เมื่อคดีนี้เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงนำรถแบคโฮเข้ารื้อถอนรั้วของโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเทศบาลหนองผึ้งจำเลยที่ ๒ โดยนายกเทศมนตรีจำเลยที่ ๓ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ กระทำการดังกล่าว เนื่องจากที่ดินตามแนวรั้วคอนกรีตโดยรอบโครงการเป็นที่ดินที่โจทก์โอนให้เป็นทางสาธารณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ข้อพิพาทหลักในคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันในการเข้ารื้อทำลายรั้วคอนกรีตที่โจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์ของตน ทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ ๑ เคยมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ ๑ เจรจาขอใช้ทางซึ่งมีรั้วคอนกรีตขวางอยู่ เพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ ๑ ออกสู่ทางสาธารณะแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๑ จึงไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๒ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ อันเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน กรณีจึงเห็นได้ว่าข้อพิพาทหลักในคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ทั้งยังปรากฏว่าคำสั่งอนุญาตให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางและเชื่อมทางของจำเลยที่ ๓ นั้น เป็นการอนุญาตในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะของรัฐ แต่มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง