คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับ เลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว หรือหลายกรรมต่างกัน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วใน ศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ โจทก์ระบุในฟ้องแล้วว่า จำเลยได้บังอาจซื้อ รับจำนำ หรือ รับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลาง และได้ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้นซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ ดังกล่าว โดยจำเลย รู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นได้ลักลอบนำหนีศุลกากรเข้ามา ในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ทั้งนี้ โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และคำขอท้ายฟ้อง โจทก์อ้าง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ และ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เช่นนี้ นับว่าเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางเป็นของต้องห้าม ต้องกำ กัดตามกฎหมายในการนำเข้าและต้องชำระภาษี โจทก์หาจำต้องระบุว่าเป็นของต้องห้ามต้องกำ กัดตามประกาศ ของกระทรวงใดอีกไม่ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางสมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และ (6) แล้ว การพิจารณาว่า การกระทำเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่จะพิจารณาแต่เพียงว่า ถ้าเป็นการกระทำความผิดหลายฐานในครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำความผิดหลายฐานในครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกันหรือประสงค์จะให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐาน การที่ตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งเจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดของกลางในคดีในข้อหาความผิด ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แปรรูปไม้ มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครอง เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาใน ราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร กรณีมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้เข้าไปทำไม้โดยตัดฟันมะ ขาม ป่า ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายและตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้แปรรูปไม้มะ ขาม ป่า โดยเลื่อยออกเป็นแผ่น จำนวน 16 แผ่น ปริมาตร 0.21 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้มีไม้มะขาม ป่าแปรรูปดังกล่าว ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2539 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 14 มกราคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ซื้อรับจำนำหรือรับไว้ ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมบาร์ และโซ่ จำนวน 1 เครื่อง และได้ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายช่วยซ่อนเร้นซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์ และโซ่ 1 เครื่อง ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรแล้วเป็นเงิน 5,720 บาท โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นได้ลักลอบนำหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามวันและเวลาตามฟ้องเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยไม้มะขาม ป่าแปรรูปและยึดได้เลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมบาร์ และโซ่ 1 เครื่อง เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74,74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 และริบของกลางกับจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31 วรรคแรก,35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73 วรรคแรก,74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 22,880 บาท รวมโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 22,880 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี และปรับ 11,440 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลาง ในกรณีที่ไม่อาจขายของกลางได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่และความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองแต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีการับวินิจฉัยให้ และเห็นว่าเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางโจทก์ระบุในฟ้องแล้วว่า จำเลยได้บังอาจซื้อรับจำนำหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ และได้ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายช่วยซ่อนเร้นซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นได้ลักลอบนำหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ทั้งนี้ โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” และคำขอท้ายฟ้อง โจทก์อ้างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เช่นนี้ นับว่าเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางเป็นของต้องห้ามต้องกำ กัดตามกฎหมายในการนำเข้าและต้องชำระภาษี หาจำต้องระบุว่าเป็นของต้องห้ามต้องกำกัดตามประกาศของกระทรวงใดอีกไม่ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) และ(6) แล้ว
ส่วนปัญหาว่า ความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งเจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดของกลางในคดีในข้อหาความผิดทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแปรรูปไม้ มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร การพิจารณาว่า การกระทำเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่จะพิจารณาแต่เพียงว่าถ้าเป็นการกระทำความผิดหลายฐานในครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำความผิดหลายฐานในครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกันหรือประสงค์จะให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานดังเช่นคดีนี้ กรณีมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังจำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share