คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326-5327/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

วิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันจะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร การที่ศาลแรงงานฟังว่าโจทก์ที่ 2 มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท โดยฟังจากคำเบิกความโจทก์ที่ 2 ประกอบเอกสารหนังสือแจ้งผ่านการทดลองงานที่โจทก์อ้างในบัญชีระบุพยาน แต่นำส่งศาลเป็นเวลาภายหลังโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว ก็ถือว่าศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชข ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามบัญชีท้ายคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสอง
บัญชีท้ายคำพิพากษา
รายการจ่าย
นายบุญเจียม ป่องพรวน
โจทก์ที่ 1
นางสาวรัชนก พิมพ์พระ
โจทก์ที่ 2
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ค่าชดเชย
ค่าจ้าง
ค่าล่วงเวลา
ค่าทำงานในวันหยุด
ค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม

รวม

42,000 บาท
126,000 บาท
3,801 บาท
113,760 บาท
60,816 บาท
42,000 บาท

388,377 บาท
26,000 บาท
26,000 บาท
2,400 บาท
15,000 บาท
12,000 บาท
13,000 บาท

94,400 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท โดยรับฟังจากพยานหลักฐานในหนังสือแจ้งผ่านการทดลองงานลงวันที่ 6 กันยายน 2545 ที่ระบุว่าจำเลยปรับเงินเดือนให้โจทก์ที่ 2 จากเดือนละ 23,000 บาท เป็น 24,000 บาท ซึ่งจะมีผลในวันที่ 21 มีนาคม 2544 นั้น หนังสือแจ้งผ่านการทดลองงานมิใช่พยานเอกสารที่มีการนำสืบในชั้นพิจารณาคดี แต่เป็นเอกสารที่มีการกล่าวอ้างขึ้นภายหลังที่สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วทั้งไม่ได้อ้างเอกสารดังกล่าวในบัญชีระบุพยานของโจทก์ที่ 2 การรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ เพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่อาจถามค้านหรือนำสืบคัดค้านการมีอยู่และความถูกต้องที่แท้จริงแห่งเอกสารได้ เห็นว่า วิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวนซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ แม้คู่ความจะมิได้อ้างหรือระบุพยานหลักฐานไว้ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ดังนี้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์ที่ 2 มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท โดยฟังจากคำเบิกความโจทก์ที่ 2 ประกอบเอกสารหนังสือแจ้งผ่านการทดลองงาน ซึ่งโจทก์ที่ 2 อ้างไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์แล้วเพียงแต่อ้างส่งศาลเป็นเวลาภายหลังโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้วก็ตามกรณีย่อมถือว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองในคดีแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุมัติให้มีการขนเศษวัสดุชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังไม่ได้ทำลายออกนอกโรงงานนอกเวลาทำการในเวลากลางคืน ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานอย่างร้ายแรง ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น จำเลยจึงไม่จำต้องสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการทุจริตอีก และจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น พิเคราะห์แล้ว เรื่องนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลเศษวัสดุเหลือใช้ประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่จะขายให้แก่บุคคลภายใอก ซึ่งก่อนนำออกนอกโรงงานจะต้องตัดทำลายมิให้สามารถนำไปใช้งานได้ แต่จำเลยพบว่ามีชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวซึ่งยังมิได้ถูกตัดทำลายวางขายอยู่ตามร้านขายของเก่า ทั้งตรวจพบรถบรรทุกที่เข้ามาซื้อเศษชิ้นส่วนรถยนต์ได้บรรทุกเศษชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังมิได้ตัดทำลาย โดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุมัติให้รถบรรทุกดังกล่าวออกนอกโรงงาน เห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความไว้วางใจให้เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาหรือระดับการจัดการ (ระดับ 7 ขึ้นไป) โดยโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานด้านความปลอดภัย และรักษาการแทนตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ต่างเป็นลูกจ้างจำเลยมานาน ย่อมมีวุฒิภาวะรับรู้ในการดำรงตำแหน่งหน้าที่การงาน รู้ขอบเขตอำนาจของตนเอง หน้าที่ที่รับผิดชอบ ทั้งได้รับค่าจ้างสูงกว่าพนักงานทั่ว ๆ ไป เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมดูแลการขนย้ายเศษวัสดุคงเหลือใช้ที่จะนำออกนอกโรงงานให้เป็นไปตามระเบียบของจำเลย แต่โจทก์ทั้งสองกลับเป็นผู้อนุมัติให้รถยนต์บรรทุกเศษชิ้นส่วนรถยนต์ทำด้วยพลาสติกหลายประเภทบรรจุเต็มคันรถ โดยชิ้นส่วนรถยนต์ทำด้วยพลาสติกดังกล่าวยังไม่ถูกตัดทำลายตามระเบียบออกนอกโรงงานไป ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และจำเลยเคยตรวจพบว่ามีชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวงางขายอยู่ตามร้านขายของเก่าด้วย ดังนี้การกระทำของโจทก์ทั้งสองย่อมเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน เป็นกรณีร้ายแรง ไม่ใยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเข้าข่ายประพฤติชั่วไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนได้ประโยชน์หรือร่วมมือกับบุคคลภายนอกเพื่อหาประโยชน์อันมิควรได้ก็ตาม การกระทำของโจทก์ทั้งสองย่อมถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ซึ่งตรงกับเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในหนังสือเลิกจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการกระทำของโจทก์ทั้งสองถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองมีความผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองดังกล่าวนับว่ามีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share