คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและบรรยายว่าโจทก์อายุมากแล้ว ทำงานมานาน ต้องเดือดร้อนเพราะมีภาระและการหางานใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ไม่ได้ใช้คำว่าค่าเสียหาย เมื่ออ่านคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมชัดเจนพอที่จะตีความได้ว่าหมายถึงขอให้พิจารณาความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางตีความว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นการตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ไม่ใช่กรณีมีข้อสงสัยจนต้องนำมาตรา 11 มาตีความ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย เงินสมทบพร้อมดอกเบี้ย ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ตามบัญชีท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๕) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขอของโจทก์ทั้งหกนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๕ และการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ฟ้องโจทก์ทั้งหกได้บรรยายว่า จำเลยวางแผนล่วงหน้าโดยย้ายโจทก์ทั้งหกไปทำงานโครงการพิเศษที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยหวังให้โจทก์ทั้งหกทนสภาพไม่ได้จะได้ลาออกไปเองเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสิทธิอื่น แต่โจทก์ทั้งหกไม่ยอมลาออก จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งหกอายุมากแล้ว มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ซึ่งแก่ชรา ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้โจทก์ทั้งหกไม่มั่นใจว่าจะหางานใหม่ได้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งหกไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายต่อการทำงานครบ ๑ ปี โจทก์ที่ ๑ ทำงาน ๒๔ ปี ๔ เดือน (โจทก์อื่นปรากฏตามคำฟ้อง) และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ซึ่งตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีใดในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกได้บรรยายเหตุที่จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และได้บรรยายให้ศาลเห็นว่าโจทก์ทั้งหกอายุมากแล้ว โจทก์แต่ละคนทำงานมานานเท่าไร โจทก์ทั้งหกเดือดร้อนเพราะมีภาระ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและโอกาสที่โจทก์ทั้งหกจะหางานใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหก แต่ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องไม่ได้ใช้คำว่า “ค่าเสียหาย” คงใช้คำว่า “ค่าชดเชยพิเศษ” ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้อง คำขอท้ายฟ้องโดยตลอดดังกล่าวแล้วย่อมมีความชัดเจนพอที่จะตีความโดยอนุโลมได้ว่า หมายถึงขอให้พิจารณาความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหกนั่นเอง การตีความโดยอนุโลมของศาลแรงงานกลางเป็นการตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑ แล้ว ไม่ใช่กรณีที่มีข้อสงสัยจนต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา ๑๑ มาตีความดังอุทธรณ์ของจำเลย ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหกคือโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ได้โดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share