คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่ความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๔,๒๔๘,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๙๓๓/๒๕๔๑ ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๓๔ วรรคแรก (ที่ถูก ๓๔๓ วรรคแรก) ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๗ กระทง จำคุก ๓๕ ปี แต่โทษจำคุกแต่ละกระทงอย่างสูงเกิน ๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี ตามมาตรา ๙๑ คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๒๐ ปี ให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๘๔๔,๖๒๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ ๒ จำนวน ๗๔๖,๕๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ ๓ จำนวน ๔๙๘,๖๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ ๔ จำนวน ๙๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ ๕ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ ๖ จำนวน ๑๒๒,๐๐๐ บาท และให้แก่ผู้เสียหายที่ ๗ จำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท กับให้นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๙๑๖๑/๒๕๔๓ ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ (ที่ถูก ๓๔๓ วรรคแรก), ๘๓ ฐานฉ้อโกงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ให้จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวม ๖ กระทง ฐานฉ้อโกงประชาชนจำคุก ๕ ปี รวมแล้วคงจำคุก ๒๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยและนายโสภณ จ่างผล กับพวก กระทำหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อตั้งบริษัทดาต้า จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๗ มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๒๑/๗ อาคาร ที อาร์ เอส หมู่ที่ ๑๔ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน บริษัทดาต้า จำกัด ได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่า บริษัทดาต้า จำกัด เป็นบริษัทที่มั่นคง ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน การบัญชี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หน้าที่อื่น ๆ และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง เมื่อมีผู้สนใจมาลงทุนหรือสมัครงาน จำเลยกับพวกจะรับไว้แล้วจัดอบรมวิธีการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยบอกว่า บริษัทประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับตลาดโตเกียวในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฟิลิปปินส์ กับชักชวนให้ผู้สมัครงานหรือผู้สนใจลงทุนนำเงินทุนมาลงทุนหรือหาลูกค้านำเงินมาลงทุนกับบริษัท หากผู้สมัครสามารถหาลูกค้ามาเปิดบัญชีลงทุนกับบริษัทจะได้รับค่านายหน้าหรือค่าคอมมิชชั่นยูนิตละ ๓๐๐ บาท ในการลงทุนจะต้องเปิดบัญชีไว้อย่างน้อย ๕ ยูนิต เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท เมื่อมีการสั่งซื้อสั่งขายสินค้า ทางบริษัทจะส่งคำสั่งซื้อหรือสั่งขายไปที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ หากได้รับผลกำไรบริษัทจะนำเงินเข้าบัญชีให้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัทดาต้า จำกัด ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้า ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ จากการหลอกลวงทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้แก่บริษัทดาต้า จำกัด… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ ๒ นั้นถือเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเป็นความเท็จ โดยทุจริตของบริษัทดาต้า จำกัด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๒ ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๗ และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ ๒ นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ มิใช่ความผิดกรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกา จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา เห็นว่า คดีส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายที่ ๒ ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย สำหรับในความผิดต่อผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๗ นั้น การกระทำของจำเลยกับพวกก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นส่วนรวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพราะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปขาดความเชื่อมั่นในกิจการของบริษัทต่าง ๆ ที่ลงโฆษณา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share