คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ ๑,๐๖๕,๗๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๙๙๑,๔๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า โจทก์ได้เช็คพิพาทมาโดยการสลักหลัง เมื่อบริษัทฐานการตลาด จำกัด ไม่มีสภาพนิติบุคคลก็เท่ากับว่าตัวกรรมการบริษัทคือนายธีระ และนายสมศักดิ์ ได้ขายลดเช็คพิพาทเป็นการส่วนตัวและได้สลักหลังเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยการสลักหลัง ไม่ขาดสาย จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๐๐ นั้น เห็นว่า เช็คพิพาทเป็น เช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัทฐานการตลาด จำกัด มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้น บริษัทฐานการตลาด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ทรงเท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาขายลดเช็ค กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัทการตลาด จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการ ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๗๐ วรรคสอง อันถือได้ว่าบริษัทฐานการตลาด จำกัด ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่นายธีระและนายสมศักดิ์ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัทการตลาด จำกัด ในเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็น อันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๐๘ โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อม ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๐๔, ๙๐๕ จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิด ต่อโจทก์… ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share