คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3826/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกพ.ศ.2526 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการเวนคืนที่ดินตามกฎหมายดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการทำให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา 66 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2518 จึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร การกระทำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจึงผูกพันกรุงเทพมหานคร โจทก์มีอำนาจฟ้องกรุงเทพมหานครเป็นจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใช้อำนาจหน้าที่มีคำสั่งให้เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงเพื่อนำไปสร้างถนนสายรัชดาภิเษก และกำหนดเงินชดเชยให้โจทก์น้อยเกินไป โจทก์ได้ทำคำคัดค้านและขอให้จำเลยทบทวนพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่ว่าที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์มีอาณาเขตติดต่อกัน และมีราคามากกว่านั้น แต่จำเลยไม่ทบทวนให้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือทำให้โจทก์ขาดเงินค่าทดแทนที่ควรจะได้รับอีกเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๔๖,๗๓๘.๒๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนที่ดิน เพราะจำเลยเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๘ ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ การกระทำใด ๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีผลผูกพันจำเลย ต้องเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้เท่านั้น แม้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษก พ.ศ.๒๕๒๖ จะบัญญัติให้ผู้ว่าาราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การกระทำหน้าที่ดังกล่าวของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มิได้กระทำไปในฐานะผู้แทนตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน ๘๐๓,๒๓๘.๒๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องว่า ปรากฏตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก พ.ศ.๒๕๒๖ ว่า กรุงเทพมหานครได้ทำการสำรวจที่ดินที่จำต้องเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษก ฯลฯ ตอนแขวงบางซื่อ แขวงลาดยาวซึ่งเป็นท้องที่ของที่ดินเวนคืนรายพิพาทคดีนี้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ.๒๕๑๗ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และหลังจากได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก พ.ศ.๒๕๒๖ แล้ว ก็ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการเวนคืนที่ดินตามกฎหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการทำให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา๖๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๘ การมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครนั้นเอง และหากจะถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับจากกฎหมายอื่นดังเช่นกรณีนี้ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับตามกฎหมายดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มาตรา ๑๙ (๘), ๖๖ (๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ ข้อ ๑ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาการกำหนดราคาค่าทดแทนที่พิพาทที่ถูกเวนคืน ศาลฎีกากำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยเฉลี่ยตารางวาละ ๓,๐๐๐ บาท ที่ดินทั้งสามแปลงเนื้อที่ ๒๘๗ ตารางวาเป็นเงิน ๘๖๑,๐๐๐ บาท หักค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไปแล้ว ๓๔๔,๗๖๑.๘๐ บาท คงเหลือค่าทดแทนที่ขาดเป็นเงิน ๕๑๖,๒๓๘.๒๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๕๑๖,๒๓๘.๒๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share