คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1719 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก” ตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท เมื่อ ส. เจ้ามรดกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้เพื่อนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกดังกล่าวมาแบ่งปันให้ทายาทต่อไป
โจทก์ทั้งสองขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. แต่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยได้นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าว ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อนำมาแบ่งแยก แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ ถือว่าจำเลยที่ 4 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่นำโฉนดที่ดินเลขที่ 4279 ตำบลพระโขนงฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไปให้เจ้าพนักงานที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินจำนวน 300 ตารางวา หรือ 300 ส่วนในจำนวน 1,108 ส่วนของที่ดินทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ยอมแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ถ้าการแบ่งแยกที่ดินไม่อาจกระทำได้ให้ขายโดยการประมูลราคาระหว่างกันเอง หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าที่ดินตามราคาท้องตลาดแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ การฟ้องคดีนี้ไม่ใช่การจัดการมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จ่าสิบตำรวจเสน่ห์ขายที่ดินของตนให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว สัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากไม่บรรยายว่าที่ดินส่วนที่ขอให้แบ่งเป็นที่ดินส่วนไหน ตั้งอยู่ทิศทางใดของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งให้ดำเนินการแบ่งแยก โฉนดที่ดินพิพาทไม่อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ยึดถือไว้ จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ผูกพันในข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงไม่ต้องส่งมอบโฉนดที่ดิน การแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวหากจำเลยที่ 4 ผู้รับจำนองไม่ยินยอม ก็ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่ตกลงกันให้ชัดแจ้งว่าเมื่อแบ่งแยกแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะได้ที่ดินส่วนใด จำเลยที่ 4 ไม่อาจยินยอมและส่งมอบโฉนดที่ดินให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่นำโฉนดที่ดินเลขที่ 4279 ตำบลพระโขนงฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไปจดทะเบียนดำเนินการแบ่งแยกจำนวนเนื้อที่ 300 ส่วนในจำนวน 1,108 ส่วนของที่ดินทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันระหว่างคู่ความมิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การที่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ รัตนพราหมณ์ ยื่นฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิอาจกระทำได้เพราะเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก” จะเห็นว่าตามบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เมื่อจ่าสิบตำรวจเสน่ห์เจ้ามรดกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้เพื่อนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงไม่เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 4 ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 เห็นว่า ในเรื่องนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้บรรยายมาว่าโจทก์ทั้งสองขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจ่าสิบตำรวจเสน่ห์ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยได้นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าว ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อนำมาแบ่งแยกดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ก็ให้การโต้แย้งไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสองเช่นกัน ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้ปฏิเสธไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ฝ่ายโจทก์ จำเลยที่ 4 เพียงแต่มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.23 หรือ ล.5 สอบถามโจทก์ทั้งสองว่าจะแบ่งที่ดินพิพาทในลักษณะใด ให้โจทก์ทั้งสองแจ้งรายละเอียดมาเพื่อดำเนินการต่อไปเท่านั้น เห็นว่า เมื่อฝ่ายโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินตามหนังสือเอกสารหมาย จ.21 จำเลยที่ 4 ก็มีหนังสือตอบฝ่ายโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.23 ว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนถูกต้องไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ได้เนื่องจากโจทก์เป็นบุคคลภายนอก ในส่วนบันทึกข้อตกลงการซื้อขายที่ดินระหว่างลูกค้าของจำเลยที่ 4 และจ่าสิบตำรวจเสน่ห์นั้น จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และให้ฝ่ายโจทก์ไปติดต่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมให้เรียบร้อยก่อน ตามหนังสือของจำเลยที่ 4 ดังกล่าว โดยสรุปแล้วจำเลยที่ 4 ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่ฝ่ายโจทก์บอกกล่าวมิใช่ว่าจำเลยที่ 4 ตกลงยินยอมส่งมอบโฉนดที่ดินและสอบถามฝ่ายโจทก์ว่าจะแบ่งแยกที่ดินพิพาทในลักษณะใดดังจำเลยที่ 4 อ้าง กรณีฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนดำเนินการแบ่งแยกที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันระหว่างคู่ความและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เป็นการไม่ถูกต้องเพราะไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ที่บัญญัติว่าถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาด ทั้งคู่ความในคดีนี้มีจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องชัดเจน
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่อง อัตราค่าทนายความได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ไว้ 1,500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว จึงเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมถ้าแบ่งไม่ได้ให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างคู่ความที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท ให้ยกคำขอที่ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมจดทะเบียนแบ่งแยก และให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share