คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้จัดหาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาด้วยตนเอง และเป็นผู้กรอกข้อความเอง ซึ่งปรากฏว่าโจทก์มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี หากเห็นว่าข้อความในหนังสือสัญญาไม่สัมพันธ์หรือใช้ไม่ได้กับการออกเช็คพิพาทในข้อสาระสำคัญ โจทก์ย่อมทราบดีและน่าจะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับมีข้อความตรงกันในข้อ 4 ว่า เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน จำเลยผู้กู้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมอบให้ไว้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เพื่อยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (3) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างโจทก์ 502,526 บาท จึงทำสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับ รวมจำนวนเงินเท่าที่ค้างชำระให้ไว้แก่โจทก์ ฉบับแรก 288,204 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 28 มกราคม 2541 ฉบับที่สอง 214,322 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 จ.6 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 สั่งจ่ายเงินจำนวนเดียวกันกับที่กู้ยืมตามสัญญากู้แต่ละฉบับและลงวันที่ออกเช็คล่วงหน้าไว้ตรงกับกำหนดที่จะต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมนั้น แต่เมื่อเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับถึงกำหนดชำระ ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2541 และวันที่ 3 มีนาคม 2541 ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ตามลำดับ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มิใช่เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องมีความผิดนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ข้อ 4 มีข้อความตรงกันว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน จำเลยผู้กู้ได้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมอบให้ไว้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เพื่อยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ทั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปมิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นสัญญาแบบเก่า ข้อความในข้อ 4 มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ผู้กู้ให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกัน จึงนำมาใช้กับเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ได้นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์เป็นผู้จัดหาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์เข้าใจข้อความในสัญญาทั้งหมดและเป็นผู้กรอกข้อความเอง ดังนั้น หากข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ ไม่สัมพันธ์หรือใช้ไม่ได้กับการออกเช็คพิพาท 2 ฉบับ ในข้อสาระสำคัญเพราะจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้ โจทก์ซึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาตรีและเป็นผู้จัดทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ ก็น่าจะทราบดีและทำการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงแต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการอย่างใด ที่โจทก์อ้างว่าหากจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประกันจริง จำเลยก็น่าจะเพิ่มเติมข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ว่า ห้ามนำไปเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยก็มิได้เพิ่มเติมข้อความอย่างใดนั้น เห็นว่า เมื่อข้อความในข้อ 4 มีความหมายชัดแจ้งว่าเป็นการออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องไปเพิ่มเติมข้อความดังที่โจทก์อ้างอีก พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share