คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกในที่ดินพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ 10,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า ที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยซื้อมาจาก ป.และ ค. เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ (ที่ดินมือเปล่า) เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่จำเลยที่ 1 ได้บุกรุกเข้าไปล้อมรั้วในที่ดินของโจทก์พร้อมกับปลูกต้นกล้วยและปักป้ายชื่อไว้ โจทก์ห้ามปรามจำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งหากเข้าไปทำประโยชน์จะได้ผลประโยชน์วันละ 200 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวกับค่าเสียหายอีกวันละ200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเดิมเป็นลำน้ำห้วยแก้วอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ต่อมาลำน้ำห้วยแก้วเปลี่ยนทางเดิน กลายเป็นทางน้ำตื้นเขิน มิใช่ที่ดินของโจทก์แม้โจทก์จะอ้างว่าซื้อและครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วและต้นกล้วยออกไปจากที่ดินพิพาท ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2 ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมทั้งร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกในที่ดินพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย อันเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ 10,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า ที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยซื้อมาจากนายปันและนายดำ จึงเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฉะนั้นที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share