คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมทั้งสองทราบดีว่า ที่ดินที่ตนทำสัญญาซื้อจาก จ.นั้น ยังมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5)เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองชำระราคาครบแล้ว จ. จัดการให้จำเลยที่ 1เปลี่ยนชื่อในใบเสียภาษีบำรุงท้องที่มาเป็นชื่อโจทก์ร่วมที่ 1การซื้อขายดังกล่าวจึงเกิดจากความสมัครใจของคู่สัญญาตามความเป็นจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้คัดค้านการซื้อขายมาแต่แรกไม่ยอมออกจากที่ดินอ้างว่าเป็นของตน เป็นการกล่าวอ้างสิทธิในทางแพ่งขึ้นภายหลังการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงนางสาวพิจิตรา กับนางสาวจวง ผู้เสียหายทั้งสองว่าพวกของจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า ประสงค์จะขายและตกลงขายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองในราคา 460,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาจะขายที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน460,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวจวง แซ่เอี้ย และนางสาวพิจิตราวันวิชา ผู้เสียหายทั้งสอง ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงิน 13,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงิน 387,000 บาท
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบว่า หลังจากโจทก์ร่วมที่ 1 ทราบจากนายประทีปกับนางกิ่งว่ามีคนเสนอขายที่ดินของนายจำลองซึ่งเป็นมูลคดีนี้ในราคา 460,000 บาท แล้วนายประทีปกับนางกิ่งได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปดูที่ดินซึ่งมีบ้านไม้ยกพื้นปลูกอยู่ 1 หลัง วันที่ 4 ตุลาคม 2531 นายจำลองกับโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาการซื้อขายกันตามเอกสารหมาย ปจ.1และ ปจ.2 โดยโจทก์ร่วมที่ 1 ได้วางเงินมัดจำแก่นายจำลอง50,000 บาท ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ชำระเงินค่าที่ดินอีกหลายครั้งจนครบจำนวน และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 เจ้าหน้าที่อำเภอได้เปลี่ยนแปลงชื่อในใบ ภ.บ.ท.5 และในแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี 2529 ถึงปี 2532 มาเป็นชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ตามความประสงค์แล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ยอมออกไปจากที่ดิน เห็นว่า ที่ดินที่โจทก์ร่วมทั้งสองซื้อมาจากนายจำลอง เป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมทราบดีตั้งแต่เวลาตกลงซื้อขายกัน แต่ปรารถนาจะได้ที่ดินจึงยอมวางเงินมัดจำไว้ถึง 50,000 บาท เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2531นายประทีปพาโจทก์ร่วมทั้งสองไปพบนายจำลองและจำเลยทั้งสองนายจำลองได้บอกโจทก์ร่วมทั้งสองว่าใบ ภ.บ.ท.5 สำหรับที่ดินระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายให้แก่นายจำลองแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1นำสืบเจือสมว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายจำลองตั้งแต่ปี 2527 ในราคา 200,000 บาทต่อมามีการชำระราคาที่ดินบางส่วนจึงได้เปลี่ยนสัญญาซื้อขายเป็นชื่อนายศิริ บุญงาม บิดานายจำลองผู้ซื้อตามเอกสารหมาย ป.ล.3 และเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายของนายจำลองผู้ซื้อตามเอกสารหมาย ป.ล.2 อีกครั้งหนึ่งนายจำลองชำระราคาที่ดินไม่ครบ คงค้างอยู่อีก 13,000 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้นายจำลองแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินเลย โจทก์ร่วมที่ 1 เลิกความตอบคำถามค้านว่าครั้งแรกที่โจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 พบกัน จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า นายจำลองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่ยังไม่ได้โอนชื่อนายจำลองได้มอบใบ ภ.บ.ท.5 สำหรับที่ดินให้โจทก์ร่วมที่ 1เก็บไว้ด้วย แสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองทราบดีตั้งแต่ต้นว่าชื่อที่ระบุไว้ในใบ ภ.บ.ท.5 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอยู่จริงนายศิริชัย แตงสกุล เจ้าพนักงานปกครอง 5 รับราชการที่ว่าการอำเภอชัยบาดาลมีหน้าที่เก็บภาษีบำรุงท้องที่ พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมทั้งสองมาพบพยานแจ้งว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิในที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาเจ้าหน้าที่ส่วนอำเภอชัยบาดาลได้ปิดประกาศตามเอกสารหมาย จ.8 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้าน จำเลยที่ 2มิได้ยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนได้เสียในที่ดินแต่อย่างใดที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งให้โจทก์ร่วมทั้งสองทราบเลยว่าตนได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว และนายจำลองยังค้างชำระเงินอยู่อีก 13,000 บาท เป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสองนั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว จึงไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องบอกกล่าวให้ผู้ต้องการซื้อที่ดินทราบ เพราะที่ดินที่ซื้อขายเป็นที่ดินมือเปล่าและไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำเลยที่ 1 ถือว่าหมดสิทธิในที่ดินแปลงนั้นแล้วนายประทีปเป็นตัวแทนของนายจำลองรับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ร่วมที่ 1 หลายครั้งตามเอกสารหมาย ป.จ.3จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดี การที่จำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านการซื้อขายและการรับเงินค่าที่ดินระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับนายจำลองแม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 2 ก็ย่อมเข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้เป็นสิทธิของนายจำลองซึ่งได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น โจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านว่า การซื้อที่ดินไม่ได้เกิดจากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1โจทก์ร่วมที่ 1 สมัครใจซื้อที่ดินเอง ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าตามใบ ภ.บ.ท.5 จากนายจำลองซึ่งได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 แต่ในใบ ภ.บ.ท.5 ยังระบุชื่อจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ โจทก์ร่วมทั้งสองได้ชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว นายจำลองได้ขวนขวายให้จำเลยที่ 1เปลี่ยนชื่อในใบ ภ.บ.ท.5 มาเป็นชื่อของโจทก์ร่วมที่ 1 ตามความต้องการของโจทก์ร่วมทั้งสอง และทางราชการได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อให้แล้วตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับนายจำลอง จึงเกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามสภาพความเป็นจริง การที่โจทก์ร่วมทั้งสองได้ชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อขายได้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ยอมออกไปจากที่ดินกลับอ้างสิทธิในที่ดินว่าเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกล่าวอ้างถึงสิทธิในทางแพ่งขึ้นในภายหลัง จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share