คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4910/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 อ้างเพียงว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับขนสินค้ารายนี้ร่วมกับบุคคลภายนอก คำร้องไม่ได้แสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทนถ้าหากศาลพิจารณาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 แพ้คดีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 (3) ป.วิ.พ. ที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี
หลังจากศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบแล้ว จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดหน้าที่นำสืบใหม่ ขอให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบโดยให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำแถลงโต้แย้ง หากศาลเห็นว่าคำสั่งเรื่องหน้าที่นำสืบที่สั่งไว้เดิมถูกต้อง เพื่อเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปนั้น ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสามโดยไม่มีข้อแม้ไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปรับเงินค่าจ้างบรรทุกสินค้ามาทั้งหมดแล้วหักเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 จะได้ออก ส่วนที่เหลือจึงจ่ายให้จำเลยที่ 2ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการที่ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างบรรทุกของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 มีอาชีพรับจ้างบรรทุกสินค้าโดยถ่ายจากเรือใหญ่มาใส่เรือที่จำเลยที่ 3 ควบคุมอยู่เป็นประจำ และบริเวณที่ขนถ่ายสินค้าย่อมจะต้องมีเรือบรรทุกสินค้าไม่ว่าใหญ่หรือเล็กแล่นผ่านไปมาเป็นประจำ ย่อมทำให้เกิดคลื่นใหญ่เล็กเป็นปกติธรรมดา จำเลยที่ 3 จึงต้องใช้ความระมัดระวังหาทางป้องกันมิให้สินค้าเลื่อนหล่นตกน้ำเมื่อเกิดคลื่นทำให้เรือโคลงหรือเอียงลงการที่สินค้าเลื่อนหล่นตกน้ำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังอันสมควร จะอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหาได้ไม่

Share