แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์รับจ้างสามล้อและส่งเสริมประกอบอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้างสามล้อมีพฤติการณ์ในลักษณะที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 3 โดยเปิดเผยถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตาม ป.พ.พ.มาตรา 427,821 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุ ได้เข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 เองก็ได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุออกวิ่งรับจ้าง เช่นนี้แสดงว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ดำเนินกิจการเดินรถยนต์รับจ้างสามล้อตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำการเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เช่นกัน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1ท-6402 กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้โอนเข้าร่วมกิจการกับสหกรณ์ธนบุรีแท็กซี่ จำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายประสงค์เป็นผู้ฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ที่ 3 หรือเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยนำรถยนต์รับจ้างสามล้อค้นหมายเลขทะเบียน 1ส-5326 กรุงเทพมหานครไปรับจ้างส่งคนโดยสารตามธุรกิจหรือกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้างสามล้อคันหมายเลขทะเบียนดังกล่าว เป็นนายจ้างหรือตัวการหรือผู้มีประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถโดยได้ประโยชน์และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้างสามล้อคันหมายเลขทะเบียน 1ส-5326กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีส่วนได้เสียและรับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2529 เวลาประมาณ2 นาฬิกา ขณะที่นายธงชัย ธนะพืชน์ ขับรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1ท-6402 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์มาตามถนนอิสรภาพ จากทางสะพานเจริญพาศน์มุ่งหน้าไปทางแยกโพธิ์สามต้น ครั้นมาถึงบริเวณหน้าปั๊มอิสรภาพคาร์แก๊ส จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์รับจ้างสามล้อคันหมายเลขทะเบียน 1ส-5326 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน วิ่งสวนทางมาด้วยความประมาทครั้นมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 เลี้ยวขวากลับรถในช่องเดินรถโดยกะทันหันตัดหน้ารถยนต์แท็กซี่ของโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์พุ่งชนรถยนต์รับจ้างสามล้อของฝ่ายจำเลย ทำให้รถยนต์แท็กซี่ของ โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 74,915 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินไม่เกิน 5,150 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1ท-6402 กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ที่ 3 และมิได้เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในการนำรถยนต์รับจ้างสามล้อคันหมายเลขทะเบียน 1ส-5326 กรุงเทพมหานครไปรับจ้างส่งคนโดยสาร หากแต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้เช่ารถยนต์รับจ้างสามล้อดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารหาผลประโยชน์ส่วนตัวเอง เหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากความประมาทของนายธงชัยผู้ขับรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1ท-6402กรุงเทพมหานคร แต่ผู้เดียว รถยนต์ของโจทก์เสียหายเล็กน้อยค่าซ่อมไม่เกิน 10,000 บาท ใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 3 วัน ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไม่เกิน 500 บาท หลังซ่อมแล้วรถจะมีสภาพดีกว่าเดิมและไม่เสื่อมราคา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30ตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นสหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์รับจ้างสามล้อและส่งเสริมการประกอบอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้างสามล้อมีพฤติการณ์ในลักษณะที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุออกวิ่งรับส่งคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 3 โดยเปิดเผยซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์จากจำเลยที่ 2 ที่เป็นสมาชิกนำรถเข้าวิ่งร่วมด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 โดยวิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุ และในกิจการของจำเลยที่ 3 ดังนั้นจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนทำละเมิดต่อโจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427, 821 ด้วยเช่นกันส่วนจำเลยที่ 2 นั้น คดีได้ความว่าเป็นเจ้าของรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 3 ได้เข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้รถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุออกวิ่งบรรทุกคนโดยสารได้โดยชอบโดยยินยอมตามกฎและระเบียบของจำเลยที่ 3 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เองก็ได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์รับจ้างสามล้อคันเกิดเหตุออกวิ่งรับจ้าง เช่นนี้แสดงว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ดำเนินกิจการเดินรถยนต์รับจ้างสามล้อตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำการเชิดให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เช่นกัน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์