คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 48(4) แห่ง ป. รัษฎากร ที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือ หากำไรเลือกเสียภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทนี้ โดยไม่ต้องนำไป รวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 48(1) และ (2) ก็ได้นั้น เป็นการให้สิทธิผู้เสียภาษี และมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้มีเงินได้ในประเภทดังกล่าว และสิทธิตามมาตรา 48(4) นี้ ก็มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะหมดไปเมื่อใด ดังนั้น จึงต้องถือว่า สิทธิของผู้เสียภาษีคงมีอยู่ตลอดเวลาที่ภาระในการเสียภาษียังมีอยู่ โจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งใน ทางการค้าหรือหา กำไร จึงมีสิทธิตามมาตรา 48(4) การที่โจทก์ ยื่นเสียภาษีโดย วิธีรวมคำนวณ ด้วยความเข้าใจผิดเพราะคิดหัก ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ทำให้จำนวนภาษี ซึ่งคำนวณตามวิธีที่โจทก์ยื่น เสียภาษีขาดไปเป็นจำนวนถึง2,276,397.80 บาท ซึ่งถ้าโจทก์ แยกยื่นเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มุ่งในทาง การค้าหรือหากำไรแล้ว โจทก์จะมีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่มอีกเพียง 98,800.99 บาท เท่านั้น เห็นได้ว่าการที่โจทก์ยื่นเสียภาษี โดยวิธีรวมยื่นนั้นเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิดเมื่อภาระหน้าที่ ในการชำระภาษีของโจทก์ยังมีอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง วิธีการยื่นเสียใหม่โดยใช้วิธีการยื่นแยกเฉพาะเงินได้จากการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเพื่อ บรรเทาภาระภาษีตามที่ ประมวลรัษฎากรให้สิทธิไว้ได้ เพราะไม่ทำให้ จำนวนภาษีที่โจทก์จะต้องเสียโดยวิธีแยกยื่นตามมาตรา 48(4)นี้ขาดจำนวนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาการยื่นรวม ที่โจทก์ยื่นด้วยความสำคัญผิดมาเป็นหลักในการประเมินโดยไม่ให้ โอกาสโจทก์แก้ไขตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายย่อมเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่โจทก์ยื่นเสียภาษีปี 2528 ของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกประการ
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์เลือกเสียภาษีโดยนำเงินได้จากการขายที่ดินมารวมคำนวณกับเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 48(1)(2) โดยเจตนาแล้ว จะกลับเปลี่ยนใจขอถอนการยื่นเสียภาษีเป็นการไม่ชอบ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยื่นเสียภาษีปี 2528 โดยนำเงินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือกำไรไปรวมคำนวณกับเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48(1)(2) ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(4) โดยแสดงเงินได้พึงประเมินสำหรับการประเมินตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 5,030,839.18 บาท แจ้งประเมินไปยังโจทก์ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีจึงลดเบี้ยปรับให้โจทก์ร้องละ 50 เหลือเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำนวน 3,892,640.28 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ตามบทบัญญัติในมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเลือกเสียภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทนี้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(1) และ (2) ก็ได้นั้นเป็นการให้สิทธิผู้เสียภาษีและมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ในประเภทดังกล่าว และสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(4) นี้ก็มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะหมดไปเมื่อใด ดังนั้น จึงต้องถือว่าสิทธิของผู้เสียภาษี คงมีอยู่ตลอดเวลาที่ภาระในการเสียภาษียังมีอยู่ โจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงมีสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(4)การที่โจทก์ยื่นเสียภาษีโดยวิธีรวมคำนวณ ด้วยความเข้าใจผิดเพราะคิดหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้จำนวนภาษีซึ่งคำนวณตามวิธีที่โจทก์ยื่นเสียภาษีขาดไปเป็นจำนวนถึง 2,276,397.80 บาท ซึ่งถ้าโจทก์แยกยื่นเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว โจทก์จะมีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่มอีกเพียง 98,800.99 บาท เท่านั้นเห็นได้ว่าการที่โจทก์ยื่นเสียภาษีโดยวิธีรวมยื่นนั้นเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิด เมื่อภาระหน้าที่ในการชำระภาษีของโจทก์ยังมีอยู่โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการยื่นเสียใหม่ โดยใช้วิธีการยื่นแยกเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเพื่อบรรเทาภาระภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรให้สิทธิไว้ เพราะไม่ทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์จะต้องเสียโดยวิธีแยกยื่นตามบทบัญญัติของมาตรา 48(4) นี้ขาดจำนวนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาการยื่นรวมที่โจทก์ยื่นด้วยความสำคัญผิดมาเป็นหลักในการประเมินโดยไม่ให้โอกาสโจทก์แก้ไขตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายย่อมเป็นการไม่ชอบและคดีไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในชั้นนี้ว่าจะมีการประเมินตามวิธีแยกยื่นโดยเฉพาะหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่จะต้องเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เท่านั้น”
พิพากษากลับให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

Share