แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีใจความทำนองว่า จำเลยแต่ละคนตกลงให้ค่าตอบแทนโจทก์จำนวนร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่ได้รับโดยจะจ่ายให้เมื่อได้รับเงินจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นคราว ๆ ไป แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือเงินส่วนแบ่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสาม สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้มีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ ไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่ทนายพึงได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไร ทั้งการที่โจทก์มีหนังสือทวงถามเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสามโดยคิดในอัตราร้อยละ 3 ของทรัพย์มรดกแต่ละรายการที่จำเลยทั้งสามได้รับไปแล้วนั้น ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับค่าจ้างตามผลแห่งคดีที่จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกโดยตรง สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 และเมื่อข้อความในสัญญาจ้างว่าความชัดเจนอยู่แล้ว กรณีไม่อาจตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงให้เป็นอย่างอื่นไปได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีเรียกร้องทรัพย์มรดกจากกองมรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ บิดาของจำเลยทั้งสามโดยทำสัญญาจ้างว่าความเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 จำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยทั้งสามตกลงว่าเมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยแต่ละคนจะจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนได้รับเป็นส่วนของตนเป็นคราว ๆ ไป ต่อมาโจทก์ตกลงลดค่าจ้างว่าความลงเหลือร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้วรวมเป็นเงิน 983,850,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทซึ่งตามสัญญาจ้างว่าความจำเลยทั้งสามต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเงิน29,515,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 29,515,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาโดยชำระเงิน 5,993,100บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระเงินจำนวน 23,522,400 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามขายทรัพย์มรดกจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์เป็นทนายความโดยตกลงให้โจทก์มีหน้าที่ติดตามรวบรวมทรัพย์มรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ ที่สูญหายไปเนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียที่ดูแลทรัพย์มรดกอยู่เบียดบังเอาทรัพย์ส่วนนั้นไป โจทก์ไม่ทำการงานให้เห็นผลในการติดตามทรัพย์มรดกเข้าในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามสัญญาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ประกอบอาชีพทนายความ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทั้งสามทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก และเรียกร้องทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิจะได้รับจากกองมรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ บิดาของจำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามตกลงให้ค่าจ้างว่าความหรือสินจ้างแก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 5ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนได้รับส่วนของตนเป็นคราว ๆ ไปต่อมาโจทก์ลดค่าจ้างว่าความลงเหลือร้อยละ 3 โดยนำสัญญาเดิมมาลบเลข 5 ออกและเขียนเลข 3 ลงไปใหม่ ตามสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26หลังจากนั้นทายาทของนายมานิตย์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกกันในคดีหมายเลขแดงที่ 7181/2534 ของศาลแพ่ง โดยจำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งด้วย คดีถึงที่สุดแล้ว คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26 มีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยแต่ละคนตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 3ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่ได้รับ โดยจะจ่ายให้ต่อเมื่อจำเลยแต่ละคนได้รับเงินจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นคราว ๆ ไป แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามย่อมขึ้นอยู่กับทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับหรือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือเงินส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกรายนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสาม สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้จึงมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่คิดค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือพิพาทกันในคดีซึ่งทนายความพึงได้รับค่าจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินที่ตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไรการที่โจทก์มอบให้นายชุมศักดิ์ วิชัยลักษณ์ ทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.88 โดยคิดค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ 3 ของทรัพย์มรดกแต่ละรายการที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้รับแล้วนั้น ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับค่าจ้างว่าความตามผลแห่งคดีที่จำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกโดยตรง สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวแม้จะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และข้อความในสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26 ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่อาจตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นอย่างอื่นไปได้ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆของโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน