แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อบังคับคณะกรรมการการบริหารกิจการของอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519 ที่แก้ไขแล้ว ข้อ 9(5) กำหนดเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินบำเหน็จกรณี ลาออกจากงานไว้ว่า การลาออกของลูกจ้างจะต้องไม่มีความผิดใด ๆโดยไม่ได้กำหนดให้แน่ชัดว่าจะต้องเป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องถูกลงโทษให้ออกจากงานหรือไม่ แต่ตามข้อ 12 ลูกจ้างที่ถูกลงโทษหรือถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ จะต้องกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดถูกลงโทษให้ออกจากงานหรือในกรณีถึงแก่ความตายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่ไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานประมาท หรือกระทำผิดวินัยร้ายแรงซึ่งถ้าไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนก็จะต้องถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับ ดังนั้น ในกรณีที่ลูกจ้างลาออกเพราะกระทำความผิด แม้ข้อบังคับ ข้อ 9(5) ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อบังคับ ข้อ 12 ดังกล่าว แล้วย่อมแปลความไว้ว่า การที่ลูกจ้างลาออกจากงานเพราะกระทำความผิดและจะไม่มีสิทธิได้รับ เงินบำเหน็จนั้น จะต้องเป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าลูกจ้างไม่ลาออกเสียก่อนก็จะต้องถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย มิฉะนั้น ลูกจ้างของจำเลยที่กระทำ ความผิดเล็กน้อยลาออกจากงานก็จะไม่ได้รับบำเหน็จ จะต้อง ทำงานอยู่ตลอดไปจนเกษียณอายุจึงจะได้รับเงินบำเหน็จซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2533 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอรับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับคณะกรรมการกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 เป็นเงิน 72,100 บาท แต่จำเลยปฎิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามหนังสือที่ กษ 1801/564ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 72,100 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฎิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยจำเลยลงโทษโจทก์โดยให้ตัดเงินเดือนโจทก์ในอัตรา 10 เปอร์เซนต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน โจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วจึงยื่นหนังสือขอลาออก ถือว่าโจทก์ได้ลาออกโดยมีความผิดแม้จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพราะต้องห้ามตามข้อบังคับของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน72,100 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีข้อบังคับจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519 ประกาศ ณ วันที่ 21ธันวาคม 2519 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 แก้ไขโดยข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2524 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2524 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ก่อนโจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากงาน โจทก์ถูกจำเลยลงโทษให้ตัดเงินเดือนจำนวน 10 เปอร์เซนต์ มีระยะเวลา3 เดือน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการลาออกของโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6 หรือไม่ เห็นว่าตามข้อบังคับคณะกรรมการการบริหารกิจการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519 ข้อ 9 แก้ไขโดยข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ในกรณีลาออกจากงานว่า
“ข้อ 9 ผู้ปฎิบัติงานจะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ถ้าผู้ปฎิบัติงานต้องออกจากงาน เพราะ
(5) ลาออกโดยไม่มีความผิดใด ๆ และได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้ว”
ตามข้อบังคับข้อ 9(5) ดังกล่าว กำหนดสิทธิของลูกจ้างที่ลาออกจากงานว่าการลาออกของลูกจ้างจะต้องไม่มีความผิดใด ๆ โดยไม่กำหนดให้แน่ชัดว่าต้องเป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องถูกลงโทษให้ออกจากงานหรือไม่เห็นว่า ตามข้อบังคับฉบับเดียวกัน ข้อ 12 กำหนดให้ลูกจ้างที่ถูกลงโทษหรือถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จไว้ดังนี้
“ข้อ 12 ในกรณีต่อไปนี้ ผู้ปฎิบัติงานหรือทายาทไม่มีสิทธิรับเงินกองทุนบำเหน็จ
(1) ถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับขององค์การฯ
(2) ถึงแก่ความตายเพราะการกระทำผิดอาญาของผู้ปฎิบัติงานเว้นแต่การกระทำผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(3) มีกรณีกระทำผิดวินัยหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยซึ่งองค์การฯ ถือว่าถ้าไม่ตายเสียก่อน ก็จะถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับขององค์การฯ”
ตามข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าลูกจ้างที่ถูกลงโทษหรือถึงแก่ความตายจนไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จนั้น จะต้องกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดถูกลงโทษให้ออกจากงาน หรือในกรณีถึงแก่ความตายต้องเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่ไม่ใช่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานประมาท หรือกระทำผิดวินัยร้ายแรงซึ่งถ้าไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนก็จะต้องถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับ ดังนั้นในกรณีลูกจ้างลาออกเพราะกระทำความผิด แม้ข้อบังคับ 9(5) ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อบังคับ ข้อ 12 ดังกล่าวแล้วแปลความได้ว่าการที่ลูกจ้างลาออกจากงานเพราะกระทำความผิดและจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จนั้นจะต้องเป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าลูกจ้างไม่ลาออกเสียก่อนก็จะถูกลงโทษถึงออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย มิฉะนั้นลูกจ้างของจำเลยที่กระทำความผิดเล็กน้อยหากลาออกจากงานก็จะไม่ได้รับบำเหน็จจะต้องทำงานอยู่ตลอดไปจนเกษียณอายุจึงจะได้รับเงินบำเหน็จซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง”
พิพากษายืน