คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การ ขาย อสังหาริมทรัพย์ ของ ผู้เยาว์ ผู้เยาว์ เอง หรือ ผู้ใช้ อำนาจ ปกครอง จะ กระทำ มิได้ เว้นแต่ ศาล จะ อนุญาต ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เมื่อ ผู้แทนโดยชอบธรรม ต้องห้าม โดย กฎหมาย มิให้ ทำนิติกรรม ขาย ที่ดิน ซึ่ง หมายความ รวม ถึง นิติกรรม จะขาย ที่ดิน แทน ผู้เยาว์ โดย ลำพัง แล้ว จะ ถือว่า การ ที่ ผู้เยาว์ ทำนิติกรรม พร้อม กับ ผู้แทนโดยชอบธรรม มีผล ว่า ผู้แทน โดย ชอบธรรม อนุญาต ให้ ทำได้ โดย ไม่ต้อง ขออนุญาต จาก ศาล ก่อน หรือ ถือว่า นิติกรรม ที่ ผู้เยาว์ กระทำ ด้วย ตนเอง ใน ขณะ ยัง ไม่ บรรลุนิติภาวะ โดย มิได้ รับ อนุญาต จาก ศาล มีผล ผูกพัน ผู้เยาว์ เมื่อ บรรลุนิติภาวะ แล้ว ก็ เท่ากับ เป็น การ หลีกเลี่ยง ไม่ต้อง มา ขออนุญาต จาก ศาล ซึ่ง ผิด ไป จาก เจตนา รม ณ์ ของ กฎหมาย สัญญาจะซื้อขาย ที่ จำเลย ที่ 8 ได้ กระทำ ไป ใน ขณะที่ ยัง เป็น ผู้เยาว์ จึง ไม่มี ผล ผูกพัน จำเลย ที่ 8 แม้ ขณะที่ โจทก์ ฟ้อง จำเลย ที่ 8 จะ บรรลุนิติภาวะ แล้ว .

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทในฐานะที่เป็นคู่สมรสของนายณฤทธิ์ทองย้อย ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งแปดทำสัญญาจะขายที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 55(46) ให้นายณฤทธิ์ ทองย้อย ในราคา 15,000 บาทและจำเลยทั้งแปดรับเงินค่าที่ดินไปครบถ้วนแล้ว แต่ในขณะนั้นจำเลยที่ 8 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และต่อมา น.ส.3 ดังกล่าวสูญหายจึงไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายกันได้ ต่อมาพนักงานที่ดินอำเภอสันทรายออกใบแทน น.ส.3 แล้วโจทก์ติดต่อให้จำเลยทั้งแปดโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยทั้งแปดเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลยทั้งแปด จำเลยทั้งแปดให้การว่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยทั้งแปดตกลงขายที่ดินพิพาทแก่นายสิงห์โต ชัยศิริ ในราคา 15,000 บาท และได้รับเงินค่าที่ดินแล้ว แต่จำเลยที่ 8 ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ จำเลยทั้งแปดไม่เคยตกลงขายที่ดินพิพาทแก่นายณฤทธิ์ ทองย้อย และขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่ 8 เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งแปดโอนที่ดินพิพาทหากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 โอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 จำนวน7 ใน 8 ส่วน ให้แก่โจทก์ สำหรับคำขอโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 8 ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 8 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นภรรยานายณฤทธิ์ ทองย้อย โดยจดทะเบียนสมรสกัน นายณฤทธิ์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งแปด ได้ชำระราคาที่ดินให้ครบถ้วนแล้ว มีการระบุสัญญาด้วยว่าเนื่องจาก จำเลยที่ 8เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งอายุ 15 ปีเศษ ยังเป็นผู้เยาว์จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 1 มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่เสียก่อนมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ 8ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมเอง โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองรู้เห็นยินยอมด้วย ต่อมาจำเลยที่ 8 บรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยที่ 8 ไม่ได้บอกล้างนิติกรรมภายในกำหนด สัญญาจะซื้อจะขายมีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 และ 143 นั้นเห็นว่า ตามมาตรา 21 เป็นหลักทั่วไปว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต่าง ๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากได้ทำนิติกรรมไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมแล้วเป็นโมฆียะและมาตรา 24 ผู้เยาว์ยังอาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีพตามสมควรต่อมาเมื่อได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วมีมาตรา 1574 ซึ่งอยู่ในหมวดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้เยาว์เองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตอันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนหรือถือว่านิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำด้วยตนเองในขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล มีผลผูกพันผู้เยาว์เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 8 ได้กระทำไปขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 8 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 8 จะบรรลุนิติภาวะแล้ว พิพากษายืน.

Share