คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ที่ให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากเงินกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้เรียกเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวเฉพาะเงินที่ได้จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยโดยแท้จริงเมื่อปรากฏว่าโจทก์ขายกิจการของโจทก์ให้กับบริษัท อ. ในประเทศไทยและโอนเงินที่โจทก์จัดไว้เพื่อซ่อมสร้างเตาหลอมและเงินตอบแทนการทำงานของพนักงานไปให้ด้วย เงินดังกล่าวยังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย การที่จำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มรวม 3,448,693.93 บาท โดยอ้างว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปต่างประเทศ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยลดภาษีและเงินเพิ่มให้บางส่วนโจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะเงินที่โจทก์จัดไว้เพื่อซ่อมสร้างเตาหลอมและเงินตอบแทนการทำงานของพนักงาน ที่โจทก์ได้โอนให้บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด มิใช่เงินกำไร ทั้งมิได้จำหน่ายออกไปยังต่างประเทศ ขอให้เพิกถอนการประเมิน จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์กันไว้จากเงินกำไร และการที่โจทก์โอนให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด ถือได้ว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรแล้ว ฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินกำไรขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและให้ยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงที่คู่ความร่วมกันแถลงยอมรับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในคดีนี้ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแพ่งสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4256/2526หมายเลขแดงที่ 1432/2527 ได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด อยู่ในประเทศออสเตรเลียมีสาขาในประเทศไทย โจทก์ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องแก้วและได้จัดเงินสำรองสำหรับซ่อมสร้างเตาทุกปีจนถึงปี 2516 เป็นเงิน 9,708,912 บาท และเงินสำรองสำหรับจ่ายตอบแทนให้พนักงานเมื่อออกจากงานจำนวน 2,072,702 บาท ต่อมาโจทก์ได้ขายกิจการในประเทศไทยให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด ในราคา 170,000,000 บาท โดยโอนเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตามที่ลงไว้ในงบดุลไปให้บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด ด้วย ส่วนเงินที่ขายกิจการได้ โจทก์ได้ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยส่งไปประเทศออสเตรเลีย จำนวน90,069,253.53 บาท จ่ายชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล 22,803,885 บาทกันไว้สำหรับชำระค่าภาษีจำหน่ายเงินกำไร 23,704,976.63 บาทเงินที่ยังไม่ส่งออก 33,421,884.74 บาท เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ปรากฏว่า นอกจากเงินดังกล่าวโจทก์ยังมีรายจ่ายอันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ3,724,982.13 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างหากอีกส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์อยู่ต่างประเทศและมีสาขาอยู่ในประเทศไทย โจทก์ได้ขายกิจการในประเทศไทยโดยส่งเงินบางส่วนไปต่างประเทศ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าเงินสำรองค่าซ่อมสร้างเตาและเงินสำรองสำหรับจ่ายตอบแทนพนักงานกับรายจ่ายต้องห้ามตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น เป็นจำนวนเงินที่โจทก์ไม่มีสิทธิหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อโจทก์ได้ขายกิจการในประเทศไทยให้ผู้อื่นไปโดยโจทก์ไม่มีทรัพย์สินหรือเงินกำไรอยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของจำเลยถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกจากประเทศไทย จึงประเมินเรียกเก็บภาษีโจทก์ตามคำสั่งให้เสียภาษีที่ 1160/2/00065 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2519 โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีแก่โจทก์บางส่วน คงให้โจทก์เสียภาษีเป็นจำนวน3,157,207 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 43/2525 ลงวันที่8 ธันวาคม 2525
จากข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงร่วมกันดังกล่าวและพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีจากโจทก์โดยอาศัยมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรโดยเหตุ 3 ประการ คือ โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินสำรองค่าซ่อมสร้างเตาจำนวน 9,708,912 บาท เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินสำรองสำหรับจ่ายตอบแทนพนักงานจำนวน 2,072,702 บาท เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และโจทก์มีรายจ่ายอันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ3,724,982.13 บาท แต่ในส่วนนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยลดลงคำนวณรวมทั้งหมดแล้วเหลือ 1,972,800.06 บาท ปรากฏรายละเอียดตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เอกสารหมาย จ.8 ในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 1432/2527 ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิบัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากเงินกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น…” เป็นที่เห็นได้ชัดว่า กฎหมายมุ่งประสงค์จะเรียกเก็บภาษีเงินได้ตามมาตราดังกล่าว เฉพาะเงินกำไรหรือเงินที่กันไว้จากเงินกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยโดยแท้จริง ซึ่งอาจจะเป็นการโอนเงินกันทางบัญชีดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ได้ แต่ต้องให้ได้ความว่ามีการโอนเช่นนั้น สำหรับข้อเท็จจริง ในคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตามมาตรา 70 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากโจทก์ได้โอนทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งเงินสำรองทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวไปให้บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทยจำกัด ซึ่งมิได้มีการส่งเงินดังกล่าวออกไปจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการใด เงินทั้ง 2 รายการนั้นยังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยโดยการประกอบกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทยจำกัด ผู้รับโอน จะถือว่าเมื่อโจทก์เลิกกิจการจึงต้องถือว่าส่งเงินกำไรทั้งหมดให้แก่บริษัทในต่างประเทศแล้วโดยปริยายดังที่จำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นายแสวง จอนเจิดสิน พยานโจทก์เบิกความว่า ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์ได้โอนเงินทั้ง 2 รายการดังกล่าวให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จำหน่ายเงินทั้ง 2 รายการนั้นออกไปจากประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น ข้อนี้ขัดกับที่โจทก์จำเลยแถลงข้อเท็จจริงกันไว้ในวันชี้สองสถาน ซึ่งเกี่ยวกับเงินทั้งสองรายการดังกล่าว มีอยู่ว่า “…โจทก์ได้ขายกิจการในประเทศไทยโดยโอนเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตามที่ลงไว้ในงบดุลไปให้บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด ด้วย…” เช่นนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น สำหรับเงินอีกรายการหนึ่งซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นรายจ่ายอันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าว หรือเงินจำนวนอื่นใดออกไปจากประเทศไทยนอกจากเงินจำนวน 90,065,253.53 บาทซึ่งโจทก์ได้ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และชำระค่าภาษีแล้วดังที่คู่ความแถลงรับกันไว้ ดังนี้ จำเลยจึงจะประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรหาได้ไม่การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิหักเงินทั้ง 3 รายการดังกล่าว เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share