คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกับบิดาค้าขายร่วมกันมาก่อน โจทก์มาได้จำเลยเป็นสามีไม่จดทะเบียน และลงทุนค้าขายร่วมด้วย ไม่ปรากฏว่าทั้ง 3 คนร่วมกันค้าจำนวนเงินคนละเท่าใด สันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตาม มาตรา1357 แบ่งเงินทุนหมุนเวียนและทรัพย์สินของร้านค้าคนละ 1 ใน 3

ย่อยาว

จำเลยอยู่กินเป็นสามีของโจทก์โดยไม่จดทะเบียนสมรสได้ 3 ปี ก็เลิกและแบ่งทรัพย์สินกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งเงินทุนหมุนเวียนให้โจทก์กึ่งหนึ่ง100,000 บาท เงินค่าขายรถยนต์เก๋ง 32,090 บาท แบ่งรถบรรทุกเล็กให้โจทก์กึ่งหนึ่งโดยประมูลหรือขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาต่อมามีว่าจะขอแบ่งเงินทุนหมุนเวียน 200,000 บาท รถยนต์เก๋งราคา 66,700 บาท และรถยนต์บรรทุกให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามที่ขอได้เพียงไร ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ร่วมทำการค้าข้าวสารกับบิดาจำเลยมาก่อนที่โจทก์แต่งงานกับจำเลย เงินหมุนเวียนและทรัพย์สินรถยนต์ 2 คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินร่วมระหว่างโจทก์จำเลยและบิดาจำเลย แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยและบิดาจำเลยลงทุนร่วมกันในกิจการค้าข้าวสารเป็นจำนวนเงินคนละเท่าใด จึงไม่อาจวินิจฉัยให้แน่นอนได้ว่า แต่ละคนมีสิทธิในทรัพย์สินรวมกันคนละกี่ส่วน กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าโจทก์จำเลยและบิดาจำเลยผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากเงินหมุนเวียนและรถยนต์เก๋งหนึ่งในสามส่วนเป็นเงิน 88,800บาท กับยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีกหนึ่งในสามส่วนของราคารถยนต์บรรทุกเล็กหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.5999 อีกด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 88,500 บาท ส่วนรถยนต์บรรทุกเล็กหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.5999 ให้จำเลยแบ่งให้แก่โจทก์หนึ่งในสาม โดยวิธีประมูลระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเห็นควรให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่าย”

Share