คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดเวลาให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์นั้น เป็นการกำหนดเวลาเกี่ยวกับการดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลชั้นต้น กฎหมายมิได้จำกัดดุลพินิจของศาลชั้นต้นว่าจะต้องสั่งให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เกินกว่า 7 วัน จึงจะเป็นการสมควร เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดเวลาโดยเหมาะสมแล้ว และจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด จึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน ๓ วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐ เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค ๑
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ภายใน ๓ วัน เป็นการกำหนดเวลาที่ไม่สมควร เพราะการร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น กฎหมายกำหนดภายใน ๗ วัน ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เกินกว่า ๗ วัน จึงจะเป็นการสมควรนั้น เห็นว่า การกำหนดเวลาให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ นั้น เป็นการกำหนดเวลาเกี่ยวกับการดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลชั้นต้น กฎหมายมิได้จำกัดดุลพินิจของศาลชั้นต้นว่า จะต้องสั่งให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์เกินกว่า ๗ วัน จึงจะเป็นการสมควรดังที่จำเลยฎีกา สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดเวลาโดยเหมาะสมแล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด จึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖
พิพากษายืน.

Share