แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สำเนาใบเสร็จรับเงินเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2)ก็รับฟังเป็นพยานได้ เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่มีอยู่กับจำเลย โจทก์ย่อมต้องรับช่วงสิทธิในส่วนของอัตรา ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ที่จำเลยต้องชำระให้แก่ธนาคารตามสัญญามาเรียกเอากับจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรกประกอบมาตรา 226 วรรคแรก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่างผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่31 กรกฎาคม 2523 จำเลยได้กู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์จำนวน 250,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จำเลยยินยอมให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ได้แต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยสัญญาว่าจะชำระเงินกู้ให้เสร็จภายใน15 ปี นับแต่วันทำสัญญา และจะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคารไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,330 บาท ทุกวันสิ้นเดือน โดยโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 115367 แขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันด้วย โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระส่วนที่ขาดให้จนครบ หลังจากจำเลยกู้เงินไปแล้วได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเพียงบางส่วน จนวันที่ 25 พฤษภาคม 2528 ค้างต้นเงินอยู่ 247,452.13 บาท และดอกเบี้ย 64,158.71 บาท ธนาคารจึงเรียกให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนและโจทก์ได้ชำระเงินให้ธนาคารเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 เป็นเงิน 20,536.16 บาท และวันที่ 7 ตุลาคม 2528 ได้ชำระต้นเงิน 247,452.13 บาท กับชำระดอกเบี้ยอีก 57,351.05 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระแทนจำเลยทั้งสิ้น 325,339.34 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของธนาคารมาไล่เบี้ยให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ธนาคารปรับเพิ่มขึ้นโดยคิดจากต้นเงิน247,453.13 บาท และเนื่องจากเงินที่โจทก์ชำระแทนจำเลยนั้นโจทก์ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนี้ ซึ่งเมื่อคิดจากต้นเงิน20,536.16 บาท ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,520.60 บาท และคิดจากต้นเงิน 304,803.18บาท นับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,121.17 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในวันฟ้อง 345,981.11 บาทขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และให้ชำระค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 325,339.34 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ หากจำเลยไม่ชำระก็ให้ยึดที่ดินซึ่งจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยได้ผ่อนชำระเงินให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ไป 33 งวด เป็นเงิน 109,890 บาท แล้วจึงไม่มียอดหนี้ที่ค้างแก่ธนาคารตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงินแทนจำเลยไปก็เป็นการชำระหนี้เกินกว่าหนี้ที่แท้จริงจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดและโจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดอกเบี้ยระหว่างที่จำเลยผิดนัดโจทก์ก็คิดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไปชำระหนี้ของจำเลย ทั้งที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์สามารถฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์ที่จำนองได้โดยตรงอยู่แล้ว เป็นการจัดการงานนอกสั่งอันขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของจำเลย โจทก์จึงต้องรับผิดชอบเองจะมาเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีจากจำเลยไม่ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 325,339.34 บาทให้โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน247,452.13 บาท นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่จำนองไว้กับธนาคารเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยใช้หนี้โจทก์จนครบจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า จำเลยกู้เงินธนาคารอาคารสงเคราะห์โดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันและมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันตามฟ้อง คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์แทนจำเลยไปตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้รับช่วงสิทธิของธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่มีอยู่กับจำเลยหรือไม่เพียงใด
สำหรับปัญหาข้อแรกจำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปตามฟ้อง พยานโจทก์คือนายประดิษฐ์คงเครือ พนักงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งทำหน้าที่เร่งรัดหนี้และเคยทำหน้าที่ด้านบัญชีเงินกู้ลูกค้ามาแล้วเบิกความว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแทนจำเลย 1 ครั้งครั้งแรกวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 เป็นเงิน 20,536.16 บาท ครั้งหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2528 เป็นเงิน 304,803.18 บาท นอกจากโจทก์จะมีสำเนาใบเสร็จรับเงินที่ชำระไปทั้งสองครั้งดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นพยานสนับสนุนแล้ว โจทก์ยังมีสำเนาบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่มีรายการหักทอนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.11 และสำเนาบัญชีเงินกู้ของจำเลยที่รายการยอดเงินที่ยังค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นพยานสนับสนุนด้วย ส่วนจำเลยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ไปเดือนละ 3,330 บาท รวม 33 งวด เป็นเงิน 109,890 บาท เมื่อหักออกจากยอดเงินที่กู้ไป 250,000 บาทจึงคงค้างชำระเพียง 140,110 บาท นั้นก็ไม่ได้ความว่าจำเลยได้หักดอกเบี้ยออกแล้ว ประกอบกับจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างเอกสารทั้งสี่ฉบับของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้พยานหลักฐานโจทก์ในปัญหาข้อนี้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดียิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลย กรณีฟังได้ว่าโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไปดังที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า นายประดิษฐ์เป็นพยานบอกเล่าเพราะไม่มีส่วนรู้เห็นขณะโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยก็ดี และที่ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6ให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันก็ดี จึงเป็นพยานที่รับฟังไม่ได้ด้วยกันนั้น เห็นว่า แม้นายประดิษฐ์จะไม่ได้อยู่รู้เห็นขณะโจทก์ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์แทนจำเลยดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่นายประดิษฐ์เป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงย่อมอยู่ในฐานะที่จะทราบเรื่องดังกล่าวได้จากบุคคลและเอกสารของธนาคาร ดังนี้นายประดิษฐ์จึงเป็นพยานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 95(2) ส่วนสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6ก็ได้ความตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 ว่าเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกคือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดังนี้ โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(2) นายประดิษฐ์และเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จึงเป็นพยานที่รับฟังได้ กรณีฟังได้ว่าโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไปรวมทั้งสิ้น325,339.34 บาท ตามฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อที่ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิตามฟ้องหรือไม่เพียงใดนั้นจำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้แทนจำเลยจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิเห็นว่า เมื่อกรณีฟังได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์แทนจำเลยไปดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของธนาคารดังกล่าวที่มีอยู่กับจำเลย ส่วนโจทก์ได้รับช่วงสิทธิได้เพียงใดนั้น จำเลยฎีกาว่าควรคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่าหากโจทก์มิได้ชำระหนี้แทนจำเลยไป จำเลยก็ยังคงต้องชำระหนี้ที่ยังค้างชำระให้แก่ธนาคารดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญา เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจึงต้องช่วงสิทธิในส่วนของดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ประกอบมาตรา 226 วรรคแรก ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน