คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปให้ผู้ที่นายทะเบียนอาวุธปืนมอบหมายตอกหมายเลขทะเบียนตามที่จำเลยได้รับอนุญาตดังนั้นหมายเลขทะเบียนที่ตอกลงที่อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่หมายเลขทะเบียนปลอม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม และถือได้ว่าอาวุธปืนของกลางมีหมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายประทับอยู่ตามใบอนุญาตที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 91, 32 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 32 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมกระทงเดียว จำคุก 2 ปี รวมโทษจำคุก 3 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 2 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 เวลาประมาณ6 นาฬิกา ร้อยตำรวจตรีสุขุม ทับทิมดี กับพวกไปค้นบ้านจำเลยได้อาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอกพร้อมด้วยกระสุนปืน 1 นัดเป็นของกลาง ปรากฏว่า อาวุธปืนของกลางด้านซ้ายตอกหมายเลขทะเบียน ชร.7/048865 ด้านขวาตอกหมายเลขทะเบียน ชร.7/013860ตามบันทึกการตรวจค้นเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายจรัส ฤทธิ์อุดม เป็นพยานเบิกความได้ความว่า พยานเป็นนายอำเภออำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีหน้าที่เป็นนายทะเบียนอาวุธปืนในท้องที่ดังกล่าวตามกฎหมายอาวุธปืนของกลางมีหมายเลขทะเบียนตอกอยู่ 2 หมายเลขคือหมายเลขทะเบียน ชร.7/013860 และชร.7/048865 จากการตรวจสอบปรากฏว่า ในขณะนั้นทะเบียนอาวุธปืนที่นายทะเบียนอาวุธปืนอำเภอพานออกให้ถึงหมายเลข ชร.7/016594ดังนั้นทะเบียนอาวุธปืน ชร.7/013860 เป็นทะเบียนอาวุธปืนที่นายทะเบียนอาวุธปืนอำเภอพานออกให้แก่จำเลยเมื่อปีพ.ศ. 2518 ใบอนุญาตเลขที่ 447/2518 นอกจากนี้พยานได้สอบถามเจ้าหน้าที่ในงานทะเบียนอาวุธปืนทราบว่า การออกทะเบียนอาวุธปืนนั้น เมื่อผู้ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้รับหมายเลขทะเบียนอาวุธปืนจากนายทะเบียนแล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะนำไปให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของงานทะเบียนอาวุธปืนเป็นผู้ตอกทะเบียนลงในอาวุธปืนให้ตรงกับหมายเลขทะเบียนอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าใช้ได้ ตามบันทึกคำให้การของจำเลยเอกสารหมาย จ.4 จำเลยได้ให้การว่า ก่อนที่จำเลยจะได้อาวุธปืนกระบอกของกลางนี้มาครอบครองทางการอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้ประกาศให้ผู้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองที่ยังไม่ได้รับอนุญาตนำเอาอาวุธปืนดังกล่าวมาขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่ที่ว่าการอำเภอพาน ครั้งนั้นมีชาวบ้านพากันนำเอาอาวุธปืนเถื่อนมาขอมีใบอนุญาตเป็นจำนวนมาก จำเลยก็ได้เอาอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาดเบอร์ 12 ของจำเลยซึ่งใช้การไม่ได้มาขอรับใบอนุญาตกับเขาด้วย ทางอำเภอพานได้ออกใบอนุญาตเลขที่ 447/2518 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2518 ให้แก่จำเลยถือไว้ประกอบอาวุธปืนที่นำไปขอรับใบอนุญาตให้มีและใช้ดังกล่าว และทางอำเภอพาน ก็ได้ประทับเครื่องหมายทะเบียน ชร.7/013860ไว้ที่อาวุธปืนของจำเลย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจำเลยเห็นว่าอาวุธปืนของจำเลยชำรุดใช้การไม่ได้ จึงไปซื้ออาวุธปืนลูกซองสั้นขนาดเบอร์ 12 ของนายบั๊บ สวิง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นมา1 กระบอก ราคา 250 บาท หลังจากนั้นได้นำเอาอาวุธปืนดังกล่าวมามอบให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่อำเภอพานประทับเครื่องหมายทะเบียนไว้กับตัวปืน ในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบว่า จำเลยซื้ออาวุธปืนของกลางจากนายบั๊บ สวิง แล้วได้ไปขอออกทะเบียนที่อำเภอพาน นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามเอกสารหมาย ล.1 จากนั้นจำเลยได้ให้ผู้รับจ้างตอกทะเบียนอาวุธปืนตอกทะเบียนให้ พิเคราะห์คำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 และคำเบิกความของจำเลยแล้วจะเห็นได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวน จำเลยให้การว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของจำเลยไปขออนุญาตก่อนแล้วจึงซื้ออาวุธปืนจากนายบั๊บ แล้วมาตอกทะเบียนใหม่โดยไม่ได้ดูว่าอาวุธปืนที่ซื้อจากนายบั๊บมีเครื่องหมายทะเบียนประทับไว้แล้วหรือไม่ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบว่า ได้นำเอาอาวุธปืนกระบอกที่ซื้อจากนายบั๊บไปขออนุญาต เห็นว่าจำเลยเป็นคนไม่มีความรู้ในเรื่องหนังสือและน่าเชื่อว่าในบริเวณที่ที่ว่าการอำเภอพานได้มีผู้มารับจ้างตอกหมายเลขทะเบียนที่อาวุธปืนดังจำเลยนำสืบจริง ทั้งจำเลยก็นำสืบปฏิเสธตลอดมาว่าข้อความในเอกสารหมาย จ.4 เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้อ่านให้ฟังและจำเลยอ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่ทราบข้อความซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าให้การขัดกัน ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้ซื้ออาวุธปืนจากนายบั๊บ แล้วจึงมาขออนุญาต ดังนั้นปัญหาในการตอกเลขทะเบียนซ้ำอาจจะมีขึ้นได้เพราะเจ้าหน้าที่มิได้ตรวจตราโดยละเอียดก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้ ซึ่งตามคำเบิกความของนายจรัส นายอำเภอพานว่า การตอกหมายเลขทะเบียนที่อาวุธปืนนั้นผู้ที่ได้รับอนุญาตจะนำไปให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของงานทะเบียนอาวุธปืนเป็นผู้ตอกก็ได้ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยนำสืบ คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหมายเลขทะเบียน ชร.7/013860 จากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วนำอาวุธปืนของกลางไปให้ผู้ที่นายทะเบียนอาวุธปืนมอบหมายตอกหมายเลขทะเบียนตามที่จำเลยได้รับอนุญาต ดังนั้นหมายเลขทะเบียน ชร.7/013860 ที่ตอกลงที่อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่หมายเลขทะเบียนปลอม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารราชการปลอม และถือได้ว่าอาวุธปืนของกลางมีหมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายประทับอยู่ตามใบอนุญาตที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้สำหรับอาวุธปืนนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share