แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องระบุว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับ ป. ผู้ตาย แต่เป็นการสมรสซ้อน ต้องห้ามตามมาตรา 1452 แห่ง ป.พ.พ. เป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมีผลตามมาตรา 1498 โดยมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา” ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ไม่อาจอ้างประโยชน์จากการอยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. ผู้ตายเพื่อกำหนดประโยชน์หรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของ ป. ผู้ตายได้ เพราะการสมรสโมฆะไปแล้ว และในทางกลับกันการสมรสระหว่างจำเลยกับ ป. ผู้ตายยังมีผลสมบูรณ์ ทำให้ทรัพย์สินของ ป. ผู้ตายต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งต้องถือว่าทรัพย์สินของ ป. ผู้ตาย มีผลเป็นทรัพย์สินระหว่าง ป. ผู้ตาย สามีกับจำเลยภริยาเพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าเป็นสินส่วนตัวของ ป. ผู้ตาย หรือสินส่วนตัวของจำเลยเพียงใด และเป็นสินสมรสระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลยเพียงใด ซึ่งมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส” ส่วนโจทก์จะมีสิทธิในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่กินกับ ป. ผู้ตายเพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของมาตรา 1498 วรรคสอง ที่ว่า “ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง…” ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า โจทก์มีทรัพย์สินใดที่โจทก์มีหรือได้มาก่อนหรือหลังสมรส ให้เป็นของโจทก์ ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง
ทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าได้ประกอบธุรกิจตั้งบริษัท ส. กิจการขาดทุนและโจทก์ปิดบริษัทแล้ว ทรัพย์สินรายการอื่น ๆ เงินฝากตามสมุดคู่ฝาก ของ ป. หนังสือรับรองหักภาษี หรือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหน่วยลงทุนโฉนดที่ดิน รายการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นชื่อ ป. ผู้ตายทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ทรัพย์สินตามที่กล่าวมาจึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสของ ป. ผู้ตายกับจำเลยทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินร่วมกับ ป. ผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้
ป. ผู้ตายแสดงออกต่อบุคคลภายนอก โดยระบุในสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ป. ผู้ตายแจ้งว่า คู่สมรสคือจำเลย ป. ผู้ตายและจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบ มีผลให้ทรัพย์สินที่ ป. ผู้ตายได้มาในระหว่างสมรสกับจำเลยเป็นสินสมรสตามผลของมาตรา 1474 (1) การที่ ป. ผู้ตายซื้อที่ดินมาขายได้เงิน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลย การที่ ป. ผู้ตายแบ่งเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงหากระทำได้ไม่ เพราะเป็นการให้โดยเสน่หาที่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามมาตรา 1476 (5) โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมมาแบ่งให้โจทก์เป็นเงิน 106,489,836.78 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นว่า นายประภาส ผู้ตาย สมรสโดยจดทะเบียนกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2519 ต่อมาในปี 2529 โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนายประภาส ผู้ตาย และในวันที่ 12 ธันวาคม 2539 โจทก์กับนายประภาสผู้ตายจดทะเบียนสมรสกัน ในวันที่ 20 ธันวาคม 2546 นายประภาสถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลังจากนั้นจำเลยยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับนายประภาส ผู้ตาย ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 เป็นโมฆะ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ให้การสมรสระหว่างโจทก์กับนายประภาสผู้ตายเป็นโมฆะ ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ อ้างว่า โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่ได้จดทะเบียนฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยากับนายประภาสผู้ตายกึ่งหนึ่ง สำหรับคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ขอให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับนายประภาสผู้ตายเป็นโมฆะนั้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนให้การสมรสระหว่างโจทก์กับนายประภาสผู้ตายเป็นโมฆะ ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 3196/2550 และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องกึ่งหนึ่งได้หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนชีวิตของนายประภาสผู้ตาย ย่อมมีส่วนในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินของนายประภาสคู่สมรส และในกรณีเป็นที่สงสัยต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ที่ให้มีส่วนเป็นเจ้าของรวมคนละครึ่งนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องระบุว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับนายประภาสผู้ตาย แต่เป็นการสมรสซ้อน ต้องห้ามตามมาตรา 1452 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมีผลตามมาตรา 1498 โดยมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา” ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ไม่อาจอ้างประโยชน์จากการอยู่กินฉันสามีภริยากับนายประภาสผู้ตายเพื่อกำหนดประโยชน์หรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของนายประภาสผู้ตายได้ เพราะการสมรสโมฆะไปแล้ว และในทางกลับกันการสมรสระหว่างจำเลยกับนายประภาสผู้ตายยังมีผลสมบูรณ์ ทำให้ทรัพย์สินของนายประภาสผู้ตายต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งต้องถือว่าทรัพย์สินของนายประภาสผู้ตาย มีผลเป็นทรัพย์สินระหว่างนายประภาส ผู้ตาย สามีกับจำเลยภริยาเพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า เป็นสินส่วนตัวของนายประภาสผู้ตาย หรือสินส่วนตัวของจำเลยเพียงใด และเป็นสินสมรสระหว่างนายประภาสผู้ตายกับจำเลยเพียงใด ซึ่งมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส” ส่วนโจทก์จะมีสิทธิในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่กินกับนายประภาส ผู้ตายเพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของมาตรา 1498 วรรคสอง ที่ว่า “ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง…” ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า โจทก์มีทรัพย์สินใดที่โจทก์มีหรือได้มาก่อนหรือหลังสมรส ให้เป็นของโจทก์ ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าได้ประกอบธุรกิจตั้งบริษัทสำนักกฎหมาย ยู.ที.ซี. จำกัด ก็ได้ความว่า กิจการขาดทุนและโจทก์ปิดบริษัทแล้วตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2546 ทรัพย์สินรายการอื่น ๆ โจทก์ก็เบิกความว่า เงินฝากตามสมุดคู่ฝาก ก็ปรากฏเพียงชื่อของนายประภาสผู้ตายทั้งสิ้น หนังสือรับรองหักภาษี หรือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหน่วยลงทุน ก็เป็นชื่อของนายประภาสผู้ตาย โฉนดที่ดินก็เป็นชื่อผู้ตาย รายการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นชื่อนายประภาสผู้ตายทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ทรัพย์สินตามที่กล่าวมาจึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสของนายประภาสผู้ตายกับจำเลยทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินร่วมกับนายประภาสผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า นายประภาสผู้ตายเคยซื้อที่ดินมาเพื่อขายแก่บุคคลอื่นและเมื่อได้เงินมาแล้วก็แบ่งให้แก่โจทก์นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนในการทำมาหาได้ในเงินดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่นายประภาสผู้ตายแสดงออกต่อบุคคลภายนอก โดยระบุในสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นายประภาสผู้ตายแจ้งว่า คู่สมรสคือจำเลย นายประภาสผู้ตายและจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบ มีผลให้ทรัพย์สินที่
นายประภาส ผู้ตาย ได้มาในระหว่างสมรสกับจำเลยเป็นสินสมรสตามผลของมาตรา 1474 (1) ดังนั้น การที่นายประภาส ผู้ตาย ซื้อที่ดินมาขายได้เงิน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสระหว่างนายประภาส ผู้ตาย กับจำเลย การที่โจทก์เบิกความว่านายประภาสผู้ตายแบ่งเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงหากระทำได้ไม่ เพราะเป็นการให้โดยเสน่หาที่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามมาตรา 1476 (5) โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินตามฟ้อง ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ