คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานเสมียนการไฟฟ้าและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการร้านค้าการไฟฟ้าของโจทก์ร่วม ได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป การที่จำเลยนำเงินที่ยักยอกไปมาชำระให้แก่โจทก์ร่วมในภายหลังนั้น เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่ทำให้พ้นความรับผิดทางอาญา โจทก์ร่วมย้งคงเป็นผู้เสียหายในความผิดทางอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานเสมียนการไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการร้านค้าการไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการในร้านค้า รวมทั้งรับเงินจากผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ เก็บรักษา นำส่งสมุห์บัญชีการไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระ โดยยักยอกเงินที่ผู้เช่าซื้อโทรทัศน์ชำระให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปเป็นประโยชน์ของจำเลยรวม ๔ ครั้ง (โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลาที่กระทำผิด ชื่อผู้เช่าซื้อโทรทัศน์ และจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไปแต่ละครั้งไว้ในคำฟ้องแล้ว) ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๑๑
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๑๑ กระกระทำของจำเลยผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงบทหนักที่สุดตามมาตรา ๔ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ เรียกกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ จำคุก กระทรงละ ๕ ปี รวม ๔ กระทงเป็นจำคุก ๒๐ ปี จำเลยให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ จำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในลักษณะความผิดเดียวกันทุกธรรม ให้ลงโทษจำเลยกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุก ๕ ปี จำเลยให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า เชื่อว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินจำนวนตามฟ้อง ไปเป็นประโยชน์ของจำเลย เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาแล้วโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในทางอาญา และการที่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภายหลังนั้น เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่ทำให้พ้นความรับผิดทางอาญา โจทก์ร่วมย้งคงเป็นผู้เสียหายในความผิดทางอาญา
พิพากษายืน

Share