คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องขัง…” และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของกักขังแทนค่าปรับแล้วแต่กรณี” ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 10 เดือน และปรับ 200,000 บาท บวกโทษจำคุก 4 เดือน ที่รอการลงโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4634/2557 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ เป็นจำคุก 2 ปี 14 เดือน และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน ริบของกลาง ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแทนค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 14 เดือน และปรับ 200,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี วันที่ 18 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุด ระบุในหมายว่าจำเลยถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา และคดีถึงที่สุดวันที่ 13 มีนาคม 2558 ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ใหม่และให้ปล่อยตัวจำเลยเฉพาะโทษกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากจำเลยได้รับอภัยโทษในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเพราะไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง…” และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับแล้วแต่กรณี” ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลย

Share