แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1164 กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้เป็นการแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่อยู่ในอำนาจของกรรมการให้แก่ผู้จัดการหรืออนุกรรมการไปจัดการแทนในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นการภายในอย่างหนึ่งเท่านั้น ส่วนการที่นิติบุคคลจะฟ้องคดีย่อมเป็นอำนาจของนิติบุคคลนั้นเองที่จะกระทำโดยกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล หากไม่ทำการฟ้องคดีเอง ก็ย่อมมีอำนาจตั้งตัวแทนให้จัดการฟ้องคดีแทนนิติบุคคลได้ ในกรณีเช่นนี้ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคล กรรมการและผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยลักษณะตัวแทน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จะต้องแต่งตั้งตัวแทนจากบุคคลที่เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของบริษัทเท่านั้น ตัวการจึงมีอำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ให้เป็นตัวแทนดำเนินการฟ้องคดีแทนตน
จำเลยทำสัญญากู้และสัญญาจำนำกับธนาคารโจทก์เนื่องมาจากจำเลยบริหารงานในบริษัท ส. ผิดพลาดและขาดทุนจนต้องขอร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวเข้ามาดำเนินการแก้ไข โดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเงินส่วนตัวมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทที่จำเลยบริหารงานผิดพลาด ดังนี้ แม้จะมีการบีบบังคับหรือข่มขู่จากโจทก์ว่าจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยหรือจะปิดบริษัท หากจำเลยไม่ยอมทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำกับโจทก์ก็เป็นเพียงการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามกฎหมายที่จะทำให้สัญญากู้เงินและสัญญาจำนำระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ
การที่จำเลยยินยอมให้ธนาคารโจทก์นำเงินที่จำเลยกู้ยืมจากโจทก์ไปชำระหนี้ของจำเลยให้แก่บริษัท ส. เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยก็ยอมรับโดยได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์หลังจากทำสัญญากู้เงินจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการรับเงินของจำเลยมาแสดงอีกเพราะจำเลยให้การรับแล้วว่าโจทก์นำเงินกู้ดังกล่าวไปชำระหนี้ของจำเลยให้แก่บริษัท ส. จำเลยไม่อาจกล่าวอ้างหรือนำสืบหรือฎีกาได้อีกว่า โจทก์ไม่ได้นำเงินที่จำเลยกู้ยืมไปชำระให้แก่บริษัทดังกล่าว เพราะเป็นการแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ ข้อกล่าวอ้างและฎีกาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีโดยถือว่าจำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์ตามที่จำเลยยอมรับ โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหลักฐานการรับเงินของจำเลยมาแสดงอีก เป็นการวินิจฉัยคดีโดยมิได้นำเอกสารที่โจทก์ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมมารับฟังด้วย แม้การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์จะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 87 และ 88 หรือไม่ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อกฎหมายในเรื่องนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์มอบอำนาจให้นายวรศักดิ์ ศุนะนันทน์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ 6,700,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน เริ่มชำระตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้ทันที และยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยนำใบหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เลขที่ 90 จำนวน 722,000 หุ้น จำนำเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 7,220,000 บาท ยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ต่อมาจำเลยผ่อนชำระหนี้ไม่เป็นไปตามข้อตกลง โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนำแต่จำเลยไม่ชำระ เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงิน 6,663,965.98 บาท พร้อมดอกเบี้ย 608,653.70 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,272,619.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 6,663,965.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดใบหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เลขที่ 90 จำนวน 722,000 หุ้น หมายเลขหุ้นที่ 041916751 ถึง 042638750 ซึ่งเป็นทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายวรศักดิ์ ศุนะนันทน์ ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์เดิมจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ จำกัด ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด แต่จำเลยบริหารงานผิดพลาด โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ได้บีบบังคับให้จำเลยทำบันทึกข้อตกลงจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ และบีบบังคับให้จำเลยทำสัญญากู้เงิน 6,700,000 บาท กับให้นำใบหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด 722,000 หุ้น มาจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้รับเงินที่กู้ยืมแต่โจทก์กลับนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด สัญญากู้เงินและสัญญาจำนำหุ้นจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่จำต้องชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,272,619.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 6,663,965.98 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เลขที่ 90 หมายเลขหุ้นที่ 041916751 ถึง 042638750 จำนวน 722,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เดิมจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ จำกัด ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 จำเลยทำสัญญากู้เงิน สัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 และทำสัญญาจำนำเอกสารหมาย จ.4 กับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นายวรศักดิ์ ศุนะนันทน์ มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายวรศักดิ์มิได้เป็นผู้จัดการหรือเป็นอนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้เป็นกรรมการของโจทก์ นายวรศักดิ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1158 และมาตรา 1164 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1158 และมาตรา 1164 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 4 ส่วนที่ 3 อันว่าด้วยวิธีจัดการบริษัทจำกัด โดยในมาตรา 1158 ได้บัญญัติถึงอำนาจของกรรมการว่ามีอำนาจดังกล่าวไว้ในหกมาตราต่อไปนี้ ซึ่งมาตรา 1164 ก็เป็นบทบัญญัติหนึ่งที่ว่าด้วยอำนาจของกรรมการที่บัญญัติสรุปได้ว่ากรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการหรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ซึ่งผู้รับมอบอำนาจต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ จึงมีความหมายเป็นการแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่อยู่ในอำนาจของกรรมการให้แก่ผู้จัดการหรืออนุกรรมการไปจัดการแทนในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นการภายในอย่างหนึ่งเท่านั้น ส่วนการที่นิติบุคคลจะฟ้องคดีย่อมเป็นอำนาจของนิติบุคคลนั้นเองที่จะกระทำโดยกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล หากไม่ทำการฟ้องคดีเอง ก็ย่อมมีอำนาจตั้งตัวแทนให้จัดการฟ้องคดีแทนนิติบุคคลได้ ในกรณีเช่นนี้ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคล กรรมการและผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะตัวเทน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จะต้องแต่งตั้งตัวแทนจากบุคคลที่เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของบริษัทเท่านั้น ตัวการมีอำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ให้เป็นตัวแทนดำเนินการแทนตน การที่โจทก์โดยกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายวรศักดิ์ฟ้องคดีแทนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว นายวรศักดิ์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่ 417/2501 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นรูปเรื่องและข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าจำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมและจะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ 6,700,000 บาท โดยนำหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ตามใบหุ้นเลขที่ 90 จำนวน 722,000 หุ้น มาจำนำเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยให้การสรุปใจความได้ว่า เดิมจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ จำกัด ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด แต่จำเลยบริหารงานผิดพลาด โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด อยู่ด้วยได้บีบบังคับให้จำเลยทำสัญญากู้เงิน 6,700,000 บาท โดยจำเลยจะต้องนำใบหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด จำนวน 722,000 หุ้น ของจำเลยมาจำนำเป็นประกันหนี้ไว้กับโจทก์ ส่วนจำนวนเงินตามสัญญากู้เงิน จำเลยไม่ได้รับแต่ประการใด แต่โจทก์ได้นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ซึ่งคำให้การของจำเลยดังกล่าวเท่ากับจำเลยได้ยอมรับแล้วว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำตามฟ้องซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 กับโจทก์จริง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำ เพราะถูกโจทก์บีบบังคับและจำเลยไม่ได้รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ แต่โจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด สัญญากู้เงินและสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะเท่านั้น ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์บีบบังคับให้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำได้ความเพียงว่าหากจำเลยไม่ยอมทำสัญญาดังกล่าว โจทก์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพนักงานของบริษัทและโจทก์จะปิดบริษัทดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่จำเลยทำสัญญากู้และสัญญาจำนำกับโจทก์นั้นเนื่องมาจากจำเลยบริหารงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ จำกัด ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ผิดพลาดและขาดทุนจนต้องขอร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวเข้ามาดำเนินการแก้ไข โดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเงินส่วนตัวมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทที่จำเลยบริหารงานผิดพลาด ดังนี้ แม้จะมีการบีบบังคับหรือข่มขู่จากโจทก์ว่าจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยหรือจะปิดบริษัท หากจำเลยไม่ยอมทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำกับโจทก์จริงดังที่จำเลยต่อสู้ก็เป็นเพียงการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามกฎหมายที่จะทำให้สัญญากู้เงินและสัญญาจำนำระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ หรือตกเป็นโมฆะเมื่อบอกล้างแล้วแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน แต่โจทก์ได้นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เห็นว่า การที่จำเลยยินยอมให้โจทก์นำเงินที่จำเลยกู้ยืมไปชำระหนี้ของจำเลยให้แก่บริษัทดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยก็ยอมรับโดยได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับโดยได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์หลังจากทำสัญญากู้เงินจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหลักฐานการรับเงินของจำเลยมาแสดงอีกเพราะจำเลยให้การรับแล้วว่า โจทก์นำเงินกู้ดังกล่าวไปชำระหนี้ของจำเลยให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด จำเลยไม่อาจกล่าวอ้างหรือนำสืบหรือฎีกาได้อีกว่า โจทก์ไม่ได้นำเงินที่จำเลยกู้ยืมไปชำระให้แก่บริษัทดังกล่าว เพราะเป็นการแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ ข้อกล่าวอ้างและฎีกาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อโจทก์มีนางพรรณนภา เกตุทัต พนักงานบริหารฝ่ายปฏิบัติการสินเชื่อของโจทก์มาเบิกความยืนยันการคิดยอดหนี้ของโจทก์คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 7,272,619.68 บาท โดยจำเลยมิได้ต่อสู้หรือนำสืบหักล้างจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นไม่อาจรับฟัง เอกสารหมาย จ.10 และ จ.10 เป็นพยานเอกสารของโจทก์ได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยคดีโดยถือว่าจำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์ตามที่จำเลยยอมรับ โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหลักฐานการรับเงินของจำเลยมาแสดงอีก เป็นการวินิจฉัยคดีโดยมิได้นำเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ที่โจทก์ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมมารับฟังด้วยแล้ว แม้การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์จะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 และ 88 หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อกฎหมายในเรื่องนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนโจทก์.