คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” จะใช้บังคับได้จริงต่อเมื่อการยึดอำนาจการปกครองยังไม่เป็นผลสำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองก็ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กล่าวคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิกไปโดยอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจ สิทธิดังกล่าวของจำเลยและประชาชนอื่นก็ยังคงมีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว เนื่องจาก คสช.ประกาศใช้กฎอัยการฝึกที่ราชอาณาจักร ประกาศให้รัฐธรรมูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติหมวด 2 รวมทั้ง คสช. ได้มีประกาศและคำสั่งอันเป็นการใช้อำนาจบริหารประเทศอีกหลายอย่าง คสช.จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อ คสช.ได้ และสิทธิของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้วนับแต่วันที่ คสช.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ 25/2557 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 29/2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2557 และนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1589/2554 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง (เดิม) ให้ปรับ 500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษถึงจำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้จึงให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ 25/2557 และฉบับที่ 29/2557 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอให้นับโทษต่อให้ยก เนื่องจากคดีนี้ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ก่อนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มได้ชุมนุมประท้วง และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนและสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ประชาชนเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เหตุการณ์มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลและความไม่สงบเรียบร้อยในหลายพื้นที่ ผู้บัญชาการทหารบกจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 3 นาฬิกา เป็นต้นไป ตามสำเนาประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ครั้นต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 นาฬิกา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตามประกาศคสช. ฉบับที่ 1/2557 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตามประกาศคสช. ฉบับที่ 2/2557 ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติหมวด 2 ตามประกาศคสช. ฉบับที่ 11/2557 วันเดียวกันนั้น คสช. มีคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัวต่อคสช. ตามคำสั่งคสช. ที่ 1/2557 และ 2/2557 ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้มีคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัวต่อคสช. เพิ่มเติม ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันเดียวกันนั้น เวลา 10 นาฬิกา ซึ่งจำเลยอยู่ในรายชื่อที่ต้องรายงานตัวต่อคสช. ด้วยในลำดับที่ 60 ตามสำเนาคำสั่งคสช. ที่ 3/2557 วันเดียวกันนั้น คสช. ได้ประกาศให้บุคคลที่ยังไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ที่ 1/2557 ถึง 3/2557 ให้มารายงานตัวต่อคสช. ภายในเวลา 16 นาฬิกา ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่มีเหตุขัดข้องจำเป็นเร่งด่วนไม่สามารถมารายงานตัวได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้แจ้งข้อขัดข้องมายังคสช. ภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว ตามสำเนาประกาศ คสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 จำเลยได้ทราบประกาศและคำสั่งคสช. ที่กำหนดให้จำเลยต้องรายงานตัวต่อคสช. ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เวลา 16 นาฬิกา แล้วแต่จำเลยไม่รายงานตัวต่อคสช.และไม่มาแจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า ขณะที่คสช. ออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยไปรายงานตัวนั้น การยึดอำนาจการปกครองประเทศของคสช. ยังไม่เป็นผลสำเร็จ คสช. ยังไม่มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ การที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวต่อคสช. เป็นการใช้สิทธิต่อต้านการกระทำของคสช. ที่ได้กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ปัญหาจึงมีว่า ขณะที่คสช. ออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยไปรายงานตัวนั้น การยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากคสช. ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว นอกจากประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประกาศและมีคำสั่งให้จำเลยและบุคคลอื่นรายงานตัวต่อคสช. ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า คสช. ได้มีประกาศและคำสั่งอันเป็นการใช้อำนาจบริหารประเทศอีกหลายอย่าง เช่น ตามคำสั่งคสช. ที่ 7/2557 และ 9/2557 เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่และให้รักษาราชการแทน คำสั่งที่ 8/2557 และ 11/2557 เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งประกาศและคำสั่งดังกล่าวได้กระทำในวันยึดอำนาจการปกครองประเทศวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม2557 อันแสดงให้เห็นว่าคสช. สามารถยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จแล้วหากการยึดอำนาจยังไม่เป็นผลสำเร็จ คสช. ก็ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารประเทศเช่นว่านั้นได้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ที่จำเลยฎีกาว่า หากถือว่าการยึดอำนาจการปกครองของคสช. สำเร็จทันทีที่กลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งใช้กำลังเข้ายึดอำนาจในการปกครองประเทศและประกาศว่ายึดอำนาจสำเร็จแล้วนั้น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ไม่อาจมีผลใช้ได้จริงในทางปฏิบัติเพราะไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ประชาชนหรือหน่วยงานองค์กรใดจะสามารถต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองประเทศได้นั้น เห็นว่า ตราบใดที่การยึดอำนาจการปกครองยังไม่เป็นผลสำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองก็ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กล่าวคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิกไปโดยอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจ สิทธิดังกล่าวของจำเลยและประชาชนอื่นก็ยังคงมีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว คสช. จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อคสช. ได้ และสิทธิของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้วนับแต่เวลาที่คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อีก
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศคสช. ฉบับที่ 29/2557 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หลังจาก คสช. ประกาศให้บุคคลตามคำสั่งคสช. ที่ 1/2557 ถึง 3/2557 ให้มารายงานตัวภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เวลา 16 นาฬิกา โดยกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วยแล้วตามประกาศคสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 นั้น ต่อมาคสช. ได้มีคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมอีกตามคำสั่งคสช. ที่ 5/2557 ให้มารายงานตัวภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เวลา 13 นาฬิกา และคำสั่งคสช. ที่ 6/2557 กำหนดให้มารายงานตัวภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เวลา 10 นาฬิกา จึงเห็นได้ว่า คสช. มีเจตนารมณ์กำหนดโทษสำหรับผู้ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ที่ 5/2557 และ 6/2557 โดยหากบุคคลผู้มีรายชื่อตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่มารายงานตัวตามกำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประกาศคสช. ฉบับที่ 29/2557 เอกสารหมาย จ.9 หาได้มีเจตนารมณ์กำหนดโทษใหม่สำหรับบุคคลผู้มีรายชื่อตามคำสั่งคสช. ที่ 1/2557 ถึง 3/2557 ด้วยไม่ เนื่องจากได้กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในประกาศคสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศคสช. ฉบับที่ 29/2557 ด้วยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share