คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการอาจแบ่งตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้นได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนอันเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ช่วงที่สอง หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากว่าหนี้ส่วนนี้มิได้กำหนดไว้ในแผนเป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งได้โดยอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 90/12(4)(5) และมาตรา 90/13 ช่วงที่สาม หนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/62
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอ้างว่าลูกหนี้ทำสัญญายืมใบหุ้นสามัญของเจ้าหนี้เพื่อนำไปเป็นหลักประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อธนาคาร โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาตลาดหุ้นสามัญโดยคิดคำนวณจากราคาปิดเฉลี่ยของแต่ละเดือน หนี้ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ซึ่งเกิดขึ้นตามกำหนดเป็นระยะตลอดเวลาที่มีการผูกพันตามสัญญา เมื่อหนี้ค่าธรรมเนียมนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 จำนวน 5,314,827.72 บาท และนับจากวันที่ 1 ธันวาคม2544 จนกว่าสัญญาการยืมใบหุ้นสามัญสิ้นสุดลงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว และแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ เจ้าหนี้จึงหาอาจมีคำขอในคดีฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางให้สั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ไม่ เจ้าหนี้ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่3 กรกฎาคม 2543 และตั้งบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยมีบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน

เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญของบริษัทปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 92,900,835 หุ้น ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2540 ลูกหนี้ทำสัญญายืมใบหุ้นสามัญดังกล่าวเพื่อนำไปเป็นหลักประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 929,008,350 บาท โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในการขอยืมใบหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาตลาดหุ้นสามัญ โดยคิดคำนวณจากราคาปิดเฉลี่ยของแต่ละเดือนตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป เจ้าหนี้ได้นำส่งใบหุ้นให้แก่ลูกหนี้และลูกหนี้ได้นำหุ้นจำนวนดังกล่าวไปจำนำต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ได้ผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมในการยืมใบหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม2543 เป็นเงินจำนวน 3,328,859.38 บาท เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวนดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 3,328,859.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2543) ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้และเป็นหนี้ที่ไม่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ค่าธรรมเนียมในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม2543 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 เป็นเงิน 8,345,983.22 บาท แต่ยังมีหนี้ค่าธรรมเนียมค้างชำระอีก 38,481.56 บาท และหนี้ค่าธรรมเนียมนับจากวันที่ 1 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เป็นเงิน 5,314,827.72 บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้น จำนวน 5,353,309.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัด (วันที่ 1 กรกฎาคม 2543) จนกว่าชำระหนี้เสร็จ และให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นนับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2544 จนกว่าสัญญาการยืมใบหุ้นจะสิ้นสุดให้แก่เจ้าหนี้

ผู้บริหารแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า หนี้ค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ แต่เจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นี้ภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวอีก

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นจำนวน 5,353,309.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ผิดนัด (วันที่1 กรกฎาคม 2543) จนกว่าลูกหนี้จะชำระเสร็จสิ้น และให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นนับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าสัญญาการยืมใบหุ้นจะสิ้นสุดให้แก่เจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่22 สิงหาคม 2540 ลูกหนี้ทำสัญญายืมใบหุ้นสามัญของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเจ้าหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 92,900,835 หุ้น เพื่อนำไปจำนำเป็นหลักประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 929,008,350 บาท โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในการขอยืมใบหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาตลาดหุ้นสามัญ โดยคิดคำนวณจากราคาปิดเฉลี่ยของแต่ละเดือนลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมในการยืมใบหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 3,328,859.38 บาท เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวนดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 3,328,859.38 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าชำระหนี้เสร็จ ต่อมาลูกหนี้ได้ชำระค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 เป็นเงิน 8,345,983.22 บาท อีกด้วย แต่ยังมีหนี้ค่าธรรมเนียมค้างชำระอีก 38,481.56 บาท หนี้ค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เป็นเงิน 5,314,827.72 บาท และหนี้ค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นนับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2544 จนกว่าสัญญาการยืมใบหุ้นสามัญสิ้นสุดลง

มีปัญหาสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า เจ้าหนี้จะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางให้สั่งผู้บริหารแผนชำระหนี้ในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่าจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28 เห็นว่า การที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการนั้น แบ่งตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้นเป็น 3 ช่วง กล่าวคือ ช่วงแรก มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนอันเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ช่วงที่สอง หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากว่าหนี้ส่วนนี้มิได้กำหนดไว้ในแผนเป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งได้โดยอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 90/12(4) (5) และมาตรา 90/13 ช่วงที่สาม หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/62 หนี้ตามคำร้อง เจ้าหนี้อ้างว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากลูกหนี้ทำสัญญายืมใบหุ้นสามัญของเจ้าหนี้เพื่อนำไปเป็นหลักประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในการขอยืมใบหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาตลาดหุ้นสามัญโดยคิดคำนวณจากราคาปิดเฉลี่ยของแต่ละเดือน จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เช่นนี้หนี้ของเจ้าหนี้ย่อมเกิดขึ้นตามกำหนดเป็นระยะตลอดเวลาที่มีการผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อเจ้าหนี้ได้ขอให้ผู้บริหารแผนชำระหนี้ค่าธรรมเนียมค้างชำระและหนี้ค่าธรรมเนียมซึ่งเกิดขึ้นนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน2544 จำนวน 5,314,827.72 บาท และหนี้นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2544 จนกว่าสัญญาการยืมใบหุ้นสามัญสิ้นสุดลง หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว และแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ เจ้าหนี้จึงหาอาจมีคำขอในคดีฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางให้สั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ไม่ เมื่อผู้บริหารแผนโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงต้องไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้รับคำร้องของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระเงินค่าธรรมเนียมการยืมใบหุ้นสามัญนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษายกคำสั่งศาลล้มละลายกลางไม่รับคำร้องของเจ้าหนี้ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่เจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ”

Share