คำสั่งคำร้องที่ 1695/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของโจทก์ในข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธปืน และร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาโจทก์เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเมื่อนำมาปรับบทกฎหมายแล้วจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานั้น ๆ หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ,72,72 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 แล้วลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ให้จำคุก24 ปี ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน และลงโทษตามมาตรา72 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 8 เดือนรวมจำคุก 26 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78คงเหลือจำคุกจำเลยไว้ 17 ปี 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ลงโทษจำคุก 18 ปี ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯลงโทษตามมาตรา 72 วรรคแรก จำคุก 1 ปีและลงโทษตามมาตรา72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 6 เดือน รวมโทษจำคุก 19 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก13 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 68)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 69)

คำสั่ง
พิเคราะห์ฎีกาโจทก์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลรับฟังมา การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ให้รับฎีกาของโจทก์ไว้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share