แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของยาชื่อ PERIACTIN ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทยแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า PERITADINE เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยพิมพ์คำนี้บนกล่องบรรจุยาของจำเลย แม้จะมีคำภาษาไทย “เพอริตาดิน” พิมพ์ไว้ด้วย จำเลยก็มีสิทธิ์ทำได้ และการที่แผงยาของจำเลยทำด้วยพลาสติกเซโลเฟนด้านหนึ่ง และอลูมิเนียมหรือฟอยล์สีฟ้าคล้ายกับแผงยาของโจทก์อีกด้านหนึ่ง แต่ตัวอักษรที่พิมพ์ไว้ทั้งสองด้านแตกต่างกันหลายประการ แผงยาของโจทก์และแผงยาของจำเลยจึงแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นแผงยาของผู้ผลิตรายเดียวกันได้ โดยเฉพาะยาของโจทก์และจำเลยเป็นยาอันตรายด้วยกัน ตามปกติผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงเป็นการยากที่จะทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดได้ สำหรับกล่องบรรจุแผงยาของโจทก์และของจำเลยก็มีลักษณะสีสรรแตกต่างกันมาก ไม่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่า โจทก์มีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างไร และจำเลยได้กระทำการอย่างใดบ้างอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ สำหรับค่าเสียหายก็ได้บรรยายแล้วว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายอย่างใดคิดเป็นเงินเท่าใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของยาชื่อ “เพอริแอคติน” ภาษาอังกฤษว่า PERIACTIN บรรจุในแผง ๆ ละ ๔ เม็ด แผงทำด้วยพลาสติกเซโลเฟน ด้านหน้าด้านหลังเป็นแผ่นอลูมิเนียมสีฟ้า มีชื่อยาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้านหน้าและด้านหลังมีอักษรย่อ M S D อยู่ในวงกลมสีดำและสีฟ้า แผงบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษสีขาวและเขียวอมฟ้า ปรากฏตัวอย่างกล่องและแผงบรรจุยาท้ายฟ้อง ยานี้ได้นำมาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ต่อมาโจทก์ได้มอบให้บริษัทมีชื่อผลิตและบรรจุยาต่าง ๆ แทนโจทก์ แพทย์และประชาชนไทยเชื่อถือและใช้ยาโจทก์อยู่ทั่วไป จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนแบบหีบห่อกล่องและแผงบรรจุยา รอยประดิษฐ์ยาเพอริแอคตินของโจทก์แต่เรียกให้เพี้ยนไปว่า “เพอริตาดิน” โดยใช้กล่องกระดาษมีลักษณะและขนาดคล้ายกล่องยาของโจทก์ บรรจุยาแผงละ ๔ เม็ดเท่ากับของโจทก์ แผงทำด้วยวัตถุเดียวกับของโจทก์ และจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นยาที่ผลิตจากแหล่งเดียวกับยาของโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายต่อ ๆ ไปเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท และให้เลิกใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบของโจทก์ และให้งดจำหน่ายสินค้าดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า PERITADINE แล้ว เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ต่างกัน พลาสติกและแผ่นอลูมิเนียมเป็นของที่ใช้บรรจุยาทั่วไป บนแผงพลาสติกต่างกันทั้งตัวอักษรและลักษณะรอยประดิษฐ์ กล่องบรรจุแผงยาของโจทก์และของจำเลยมีลักษณะและสีแตกต่างกันเห็นได้ชัด โจทก์ไม่ได้เสียหาย และฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้โฆษณาว่าจำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้บังคับให้โจทก์ใช้เงินแก่จำเลย ๑๐๐,๐๐๐ บาท หยุดโฆษณา และแก้ข่าว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ต้องโฆษณาให้สาธารณชนทราบว่ายาที่จำเลยผลิตจำหน่ายทำรูป รอยประดิษฐ์ หีบ ห่อ แผงบรรจุคล้ายคลึงกับของโจทก์แต่ไม่ใช่ยาของโจทก์ เป็นการแจ้งให้ผู้ซื้อหรือสาธารณชนได้ทราบความจริง ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยฟ้องแย้งเรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องและฟ้องแย้งไม่เคลือบคลุม จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ประเด็นนี้จึงยุติ คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เป็นละเมิด และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทำละเมิดต่อจำเลย พิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่จำเลยทั้งสองได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เฉพาะคำว่า PERITADINE ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ไว้บนแผงยาและที่กล่องบรรจุแผงยานั้น จำเลยที่ ๒ ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ไว้แล้ว จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้ แม้จำเลยจะพิมพ์คำภาษาไทยว่า “เพอริตาดิน” ไว้ด้วย ก็เป็นเพียงคำอ่านภาษาไทยของคำ PERITADINE เท่านั้น การพิมพ์คำภาษาไทยดังกล่าวไว้จำเลยจึงมีสิทธิ์ทำได้เช่นกัน ส่วนแผงยาที่จำเลยใช้บรรจุยา PERITADINE นั้น แม้จะทำด้วยพลาสติกเซโลเฟนด้านหนึ่ง และอลูมิเนียมหรือฟอยล์สีฟ้าคล้ายกับแผงยาของโจทก์อีกด้านหนึ่งก็ตาม แต่ตัวอักษรที่พิมพ์ไว้ทั้งสองด้านนั้นก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ด้านหน้าของแผงยาของโจทก์มีคำว่า “เพอริแอคติน” อยู่บรรทัดบน และคำว่า “PERIACTIN” อยู่บรรทัดล่างเพียง ๒ บรรทัดต่อยา ๑ เม็ดเท่านั้น แต่แผงยาของจำเลยมีคำว่า “เพอริตาดิน” อยู่บรรทัดบน และคำว่า “PERITADIN” หรือ “PERITADINE” อยู่บรรทัดล่างซ้ำกันสองครั้งรวมเป็น ๔ บรรทัดต่อยา ๑ เม็ด และด้านหลังของแผงยาของโจทก์มีวงกลมสีดำ ๒ วงทับกันอยู่บางส่วน ส่วนที่ทับกันมีสีเขียวอมฟ้า มีอักษร M S D อยู่ในวงกลมทั้งสองนั้น เพราะอักษร S อยู่ตรงส่วนที่วงกลมทับกัน ส่วนด้านหลังของแผงยาของจำเลยมีวงกลม ๓ วงติดกัน แต่ไม่ซ้อนกัน เฉพาะวงแรกและวงที่สามสีดำ วงที่สองสีเขียวอมฟ้า และมีอักษร K D P อยู่ในวงกลมทั้งสามนี้ ฉะนั้น แผงยาของโจทก์และแผงยาของจำเลยจึงมีความแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นแผงยาของผู้ผลิตรายเดียวกันได้ โดยเฉพาะยาของโจทก์และจำเลยนี้เป็นยาอันตรายด้วยกัน ซึ่งตามปกติผู้ซื้อและผู้ขายย่อมจะต้องใช้ความระมัดระวังพิเศษในการซื้อและการขาย ผิดกับการซื้อขายสินค้าทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่จะทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดได้ สำหรับกล่องบรรจุแผงยานั้น กล่องของโจทก์และของจำเลยมีลักษณะสีสรรแตกต่างกันมาก กล่องของโจทก์พื้นกล่องสีเขียว มีบางส่วนสีขาว แต่กล่องของจำเลยพื้นสีฟ้า มีบางส่วนตอนบนสีขาว และบางส่วนตอนล่างสีดำ คำว่า PERIACTIN ของโจทก์สีดำ แต่คำว่า PERITADINE ของจำเลยสีแดง นอกจากนี้กล่องของจำเลยยังมีภาพลูกศรใหญ่สีดำอยู่บนลูกศรใหญ่สีแดงเป็นที่สังเกตชัดอีกด้วย ซึ่งกล่องของโจทก์ไม่มีจึงไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้ยาเข้าใจผิดในกล่องยาของโจทก์และกล่องยาของจำเลยว่าเป็นกล่องยาของผู้ผลิตรายเดียวกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
สำหรับฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่าโจทก์มีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างไร และจำเลยได้กระทำการอย่างใดบ้างอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ สำหรับค่าเสียหายโจทก์ก็ได้บรรยายแล้วว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายอย่างใด คิดเป็นเงินเท่าใด ส่วนรายละเอียดแห่งความเสียหายนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบกันในชั้นพิจารณา ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่ พิพากษายืน